คดีชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 6 คน ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพวก ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินนั้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลทั้งหกโดยเฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท

หลังจากข้าราชการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุในการเข้ารื้อถอน เผา ทำลาย บ้าน และทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน และบ้านใจแผ่นดิน

แต่การต่อสู้ของชาวบ้านที่มีปู่คออี้ หรือนายโคอิ มีมิ รวมอยู่ด้วยยังดำเนินต่อไป

โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่พิพาท ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้

คําพิพากษาของศาลปกครองในครั้งนี้ระบุถึงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มีแนวปฏิบัติว่า ห้ามจับกุมชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่พิพาท และให้คุ้มครองชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่ จนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย

ดังนั้นการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามมติครม.นี้ให้เป็นรูปธรรม

หลังจากขั้นตอนการตัดสินครั้งนี้ ศาลระบุว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย

จึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้

การพิสูจน์ถึงอายุของชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับกฎหมายว่าด้วยพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ต้องทำให้ชัดเจน

หากชุมชนเกิดขึ้นก่อนและเป็นตัวอย่างว่าคนอยู่กับป่าได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าได้อย่างยั่งยืนมาตลอด ก็สมควรเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องได้ พิสูจน์ด้วยเหตุและผลได้

ขณะเดียวกัน กรณีนี้ย้ำถึงการหลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือละเมิดชาวบ้าน ว่าเป็นหัวใจการทำงานของข้าราชการ

ควรเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคลี่คลายปัญหาตามหลักมนุษยธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน