หมายเหตุ : วันที่ 14 มิ.ย. ที่คณะรัฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มีการเสวนาหัวข้อ ?อนาคตประชาธิป ไตยไทย: ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง? โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนา

จาตุรนต์ ฉายแสง

แกนนำพรรคเพื่อไทย

รัฐบาลนี้ไม่มีความพยายามที่ทำให้เกิดความปรองดอง ไม่มีความพยายามแก้ต้นเหตุความขัดแย้ง ในอดีต ไม่พยายามแม้แต่จะนำผล การศึกษาข้อเสนอข้อคิดในอดีตมาพิจารณา ไม่มีการนั่งหารือกันอย่างเท่าเทียม จึงยังเป็นปัญหาอยู่ แล้วจะเป็นกับดักในอนาคต

ซึ่งไม่ใช่กับดักสำหรับพรรคการ เมืองและนักการเมือง แต่เป็นกับดักของ ประเทศไทย ที่ดักการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ที่จะไปเจอกับความ ขัดแย้งในอนาคต โดยมีเงื่อนไขที่ปลูกฝังกันตลอด 4 ปีที่ว่าประเทศไทยขาดผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ อย่างคสช.ไม่ได้ กับดักมีอยู่ 2 ข้อใหญ่คือ

1. กับดักของประเทศก้าวหน้าพัฒนาประเทศไปอย่างราบรื่น ที่ตรงความต้องการของประชาชน 2. กับดักที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ที่จะเป็นข้ออ้างให้เกิดรัฐประหารอีกในอนาคต

ตามกติกานี้ไม่เพียงแค่ต้องการให้ย้อนไปก่อนปี 2557 เพียงเล็กน้อย แต่กติกาที่เขียนขึ้นนี้ย้อนกลับไปอย่างน้อย 30-50 ปีที่แล้ว ประเทศไทยถอยหลังไปมาก ที่ผ่านมามีพัฒนาการทั้งที่ดีและเป็นปัญหา อย่างการทุจริตมีกลไกที่จะมาดูแลแต่เมื่อถูกแทรกแซงโดยคสช.ก็กลายเป็นจุดอ่อน

การเมืองจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่ความขัดแย้งก็ไม่ได้สร้างองค์ความรู้ หรือวิธีการออกจากความขัดแย้งในเวลามีความเห็นที่ต่างกัน กติกาที่เป็นธรรมก็ยังไม่ถูกปลูกฝังให้เกิดขึ้น

ในแง่การพัฒนา 15-20 ปีที่ผ่านมาระบบเลือกตั้งเกิดการพัฒนาที่สำคัญ ประชาชนให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ชอบหรือไม่แต่เห็นว่าเลือกแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนจำนวนมาก แต่แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกได้ยากเพราะกับดักที่สำคัญ เพราะยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

จึงกังวลจะมีการแทรงแซงการเลือกตั้ง มีกฎหมายไม่เป็นธรรม การตั้งรัฐบาลโดยส.ว.แต่งตั้งมีโอกาสจะแทรกแซงได้อีกมาก จนผลที่ออกมาอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนแสดงออกในการเลือกตั้ง เมื่อตั้งรัฐบาลแล้วก็มีรายละเอียดในการ ตั้งนายกฯคนนอกจากคสช.อีก

กระบวนการพัฒนาระบอบรัฐสภาจากการเลือกตั้งจะมีอุปสรรคสำคัญมาก จากยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป 6 ด้านที่มีรายละเอียดมาก ทั้งการแก้กฎหมาย โครงการ งบประมาณ รัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐบาลต้องทำตาม ไม่ทำจะฟ้องป.ป.ช. เพื่อนำไปสู่การถอดถอนและลงโทษอาญา

พัฒนาการที่ผ่านมาจึงไปต่อยากเพราะคสช.วางแผนไว้แล้วให้เป็นแบบนั้น ซึ่งอาจมีอายุได้อีก 20 ปี ถ้าตั้งรัฐบาลได้ บ้านเมืองก็จะถูกบริหารภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่สับสนอลหม่าน ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เชื่อขนมกินได้ว่ามันไม่สอดคล้องกับความต้องการประชาชน

ยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้ประเทศปรับตัวได้ไม่ทันกับโลก ปัญหาจะตกไปยัง รุ่นลูกรุ่นหลาน ประชาชนจะเรียนรู้ ชีวิตในอีก 50 ปีจะไปข้างหน้าไม่ได้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็เขียนไว้แทบจะแก้ไม่ได้ก็นำไปสู่ความขัดแย้ง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

สิ่งที่คิดตรงกันคือต้องการให้ประเทศไทยกลับคืนสู่วิถีประชาธิปไตยโดยรักษาทั้งรูปแบบและสาระของประชาธิปไตย ที่นายจาตุรนต์พูดว่ากับดักประเทศถูกวางโดยผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จำกัดเสรีภาพอ้างเพื่อความสงบเรียบร้อย สร้างกลไกต่างๆ ว่าสภาพแบบนี้จะดำรงอยู่ต่อไปหลังเลือกตั้งนั้นเห็นด้วย

การกลับสู่ประชาธิปไตยแล้วรักษาทั้งรูปแบบและสาระคือ 1. แม้ปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งเสร็จแล้ว แต่โรดแม็ปเดินไม่ได้เพราะไปติดคำสั่งคสช.เอง

2. แม้ผ่านกับดักตรงนี้ไปแล้วกระบวนการประชาธิปไตยต้องกลับไปที่การเลือกตั้ง การตั้งต้นการเลือกตั้งต้องเสรีและเป็นธรรม หรือสุจริตและเที่ยงธรรม แต่คำถามคือจะจัดเลือกตั้งตามมาตรฐานประชาธิปไตยได้จริงหรือไม่

ข้อสังเกตคือมีการใช้ม.44 ปลดกกต.ไปแล้วครั้งหนึ่ง คำถามคือกกต. ผู้รักษาความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง จะมีความเป็นอิสระและเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน

และที่ผู้มีอำนาจประกาศชัดเจนขึ้นทุกวัน จากเดิมประกาศตัวเป็นกรรมการห้ามมวย แต่ปัจจุบันจะลงมาเล่นด้วย สงสัยว่าการเลือกตั้งจะสุจริต เที่ยงธรรม เสรี เป็นธรรมหรือไม่

3. ที่จะตามมาหลังการเลือกตั้งคือ ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง แต่มีสิทธิลงคะแนนเลือกหัวหน้ารัฐบาล ก็กลายเป็นว่าจะมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งมาเป็นผู้เล่นโดยไม่ยึดโยงประชาชน

4.จะมีสองปัญหา ปัญหาหนึ่งคือกติกาสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังมีหลายบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และจะให้ตัวแทนประชาชนใช้อำนาจสูงสุดนั้นอย่างไร

ดังนั้นพอผ่าน 3 กับดักก็ต้องพิจารณากับดักที่ 4 ซึ่งนักการเมืองต้องกอบกู้ศรัทธา ให้เห็นความสำคัญของเสรีนิยมประชาธิปไตย

ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีรูปแบบก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เข้าใจเลือกตั้งว่าไม่ใช่แค่ 4 วินาที แต่ก็มีเวลามากกว่าระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง จึงต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ย้อนกลับไปในอดีต พูดแบบไม่เกรงใจ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตไม่ให้กลับไปแบบเดิม ต้องรักษาจิตวิญญาณของประชาธิปไตย

ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป และรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ใครที่อาสาเข้ามา ใครมีข้อเสนอที่ดีกว่ายุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป เสนอมาเลยแล้วทำให้ได้ จะแก้กฎหมายก็ต้องทำหากเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆก็ทำได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้แน่นอน แต่ที่ไม่ไปเรื่องนี้ทันทีคือจะติดกับดักเดิมที่บอกว่านักการเมืองเมื่อเข้ามาแล้วก็ทำเพื่ออำนาจเดิม จะมีปัญหาเรื่องศรัทธา หากจะแก้เชิงโครงสร้างก็ต้องมีเสียงส.ว. 1 ใน 3 ต้องประชามติอีกรอบ กว่าจะไปถึงตรงนั้นต้องพิสูจน์ก่อนว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นอุปสรรคกับประชาชนอย่างไร

มั่นใจว่าจำนวนส.ส.ในสภา หลังเลือกตั้งที่จะแก้อย่างไรก็เกิน 376 เสียง พรรคที่บอกจะไม่แก้รวมกันไม่ถึง 125 เสียงแน่นอน จึงคิดว่าไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การแก้ไข โดยต้องมีส.ว. 1 ใน 3 ให้ความเห็นชอบด้วย จึงต้องออกแบบวิธีการให้ส.ว. เห็นด้วย ประชามติคือหนทางหนึ่ง

แต่ตอนนี้สิ่งที่คาดหวังคือความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ จึงไม่ง่ายต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำให้มีหลักประกันว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ด้วยการจะเอา 376 เสียงมาทำเพียงเรื่องนี้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก คนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์มีทรัพย์สินรวมกัน 3 ล้านล้านบาท เท่างบประมาณชาติ มั่งคั่งกว่า 60 กว่าล้านคนที่เหลือทั้งประเทศ

รอบ 86 ปีที่ผ่านมาเห็นความชัดเจนบางอย่างว่าอะไรที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลง การก้าวไปข้างหน้าซึ่งไม่ใช่แค่ในปี 2557 เท่านั้น แต่เป็นกับดักที่วนเวียนตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ก็คือการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคนส่วนน้อยที่รัฐประหารเพื่อรักษาสถานะของพวกตนเองไว้

ประเทศไทยจะตามให้ทันหรือรักษาสถานะในเวทีโลกต้องวิ่งให้เร็วเท่าโลก ไม่ต้องพูดถึงแซง ระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้นตามไม่ทัน ทางออกเดียวคือต้องนำระบอบรัฐสภามาอีกครั้ง

การลงมาทำการเมืองเพราะสิ้นหวังไม่เห็นทางออก เพราะความโกรธในฐานะนักธุรกิจที่ไม่เห็นเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า เมื่อไปเจรจาการค้ากลายเป็นข้ออ่อนเพราะอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร โดนดูถูกเนื่องจากประเทศไม่มีนิติรัฐ ล้าหลัง นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ประชาธิปไตยต้องสร้างฉันทามติ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่คนไม่กี่คน ข้อเสนอคือเมื่อมีส.ส. 500 คน ส.ว. 250 คน รวม 750 คน หากอยากนำสังคม ออกจากความขัดแย้ง สร้างฉันทามติ พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต้องได้มากกว่าครึ่งของ 750 เสียง คือ 376 เสียง คือการยอมเล่นในเกมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อเป็นรัฐบาลให้ได้

ขั้นต่อไปคือการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชน แล้วทำประชามติใหม่เพื่อได้รัฐธรรมนูญของประชาชน ก็จะนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยโดยไม่เกิดความวุ่นวาย

ดังนั้นจึงต้องชนะในคูหา 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเสียงส.ส. 376 เสียง เพื่อเป็น super majority ในสภา พรรคที่เชิดชูประชาธิปไตยต้องรวมกันให้ได้ 376 เสียง

การชนะคูหาครั้งที่ 2 คือ ประชามติจากประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อตั้งสสร.ที่มาจากประชาชนร่างเสร็จแล้ว ก็เข้าคูหาครั้งที่ 3 ซึ่งไม่มีความ วุ่นวาย

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าขอให้เลือกพรรคที่ฝักใฝ่และเชิดชูประชาธิปไตยให้ได้ 376 เสียง เพื่อเอาชนะกันในเกม เราต้องใช้หลักการประชามติที่บริสุทธิ์ 2-3 ครั้ง เพื่อเอาชนะประชามติที่โกง 1 ครั้ง นี่คือห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่จะชี้ขาดว่าพอแล้วกับเผด็จการ

นับจากนี้จะพูดเรื่องนี้ทุกครั้ง นี่คือสงครามความคิดครั้งใหญ่ที่เราจะออกจาก ความขัดแย้ง ไม่มีใครทำร้ายประเทศไทย แต่รัฐประหารทำร้ายประชาชน ถ้าแพ้การเเลือกตั้งไม่เป็นไร ยังมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาธิปไตยสำคัญทั้งคะแนนเสียงและความคิด เพื่อเอาชนะใจผู้คน

นี่เป็นการเดินทางระยะยาวไม่ใช่เรื่องที่ต้องใจร้อน ต่อให้แพ้กับดักก็ยังมี ส.ว.ที่อยู่ 5 ปีสามารถเลือกนายกฯได้สองวาระ หากแพ้ก็จะอยู่กันไปแบบนี้ 13 ปีหรือไม่

และไม่ได้ผลักดันแค่เรื่องนี้ ยังมีเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปข้าราชการ เรื่องเหล่านี้ทำควบคู่กันไปได้ อย่างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รัฐสวัสดิการ ไม่เคยพูดจะมาแก้เรื่องนี้อย่างเดียว

สิ่งที่ต้องเดินหน้าคือการทำงานความคิดกับประชาชนซึ่งไม่ใช่แค่เทคนิคทางกฎหมาย แต่เกิดจากศรัทธาและความเชื่อมั่นจนเป็นกระแสสังคมที่จะชี้ขาดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เทคนิคทางกฎหมาย พรรคเราจะไม่แก้รายมาตรา แต่จะแก้ ทั้งฉบับอย่างเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน