ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ยืนยันว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ปัญหาคือ วันนี้พรรคการเมืองยังไม่สามารถทำ กิจกรรมใดๆ ได้ ไม่ว่าประชุมใหญ่ การหาสมาชิกพรรค จัดตั้งสาขาพรรค เตรียมตัวทำไพรมารี่โหวต คัดเลือกผู้สมัครรับ เลือกตั้ง

เนื่องจากยัง “ติดล็อก” ประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องจากบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองว่า ถ้าหากคสช.จริงใจให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้

ก็ถึงเวลา“ปลดล็อก”แก้ไขข้อติดขัดต่างๆ ให้พรรคการเมือง

ไม่เช่นนั้นโรดแม็ปเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 อาจไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ ซึ่ง จะทำให้เกิดความเสียหายหลายด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงตัวพล.อ. ประยุทธ์ ที่สูญเสียความน่าเชื่อถือ ถูกมองว่าผิดคำพูด

จึงเป็นความคืบหน้าที่ดี เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย เป็นตัวแทนรัฐบาลประชุมร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตัวแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ตัวแทนคสช.

เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้พรรคการเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศคำสั่งคสช. 3 ฉบับ

ผลประชุมได้ข้อสรุป 4 ข้อที่จะเสนอต่อคสช.และนายกรัฐมนตรีพิจารณาในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของพรรค อะไรทำได้หรือไม่ได้

คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายขั้นตอน คือ การประชุมใหญ่ ไพรมารี่โหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหัวหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถ จัดตั้งสาขาพรรคได้

การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน

และการบริหารจัดการกำหนดเวลาต่างๆ ที่อาจมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศ ใช้กฎหมายลูก 2 ฉบับ ผูกกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ผูกกับ กกต.ชุดใหม่

พร้อมกับเสนอ 3 ทางออก คือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง นายวิษณุ ย้ำว่า

เป็นการ “คลายล็อก” ไม่ใช่ “ปลดล็อก”

สําหรับโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นายวิษณุ เครืองาม ระบุอาจมี “ตัวแปร” บางอย่าง ทำให้ไม่ตรงเสียทีเดียว แต่การบวกลบเวลาต้องมีความสมเหตุสมผล สมจริง สามารถอธิบายได้

ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม เตรียมเปิดเวทีหารือกับพรรคการเมืองในช่วงปลายเดือนนี้ ถึงจะยังไม่มีการกำหนดวัน ว. เวลา น. รวมถึงสถานที่การพูดคุยชัดเจน

แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าการที่คสช.ยื้อเวลา ไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมือง เพราะต้องการให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง มีความพร้อมเสียก่อน

ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าหมายถึงพรรค “พลังประชารัฐ” ซึ่งมีรองนายกฯ และรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ อย่างน้อย 3 คนอยู่เบื้องหลังในการรวบรวมกลุ่มก้อน อดีตส.ส.และนักการเมืองดังๆ มาเข้าสังกัด

พรรคพลังประชารัฐ ถึงแม้เพิ่งจะมีข่าวยื่นจดแจ้งต่อกกต.เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ความจริงก่อนหน้านั้นได้มีการตระเตรียมความพร้อมมาพักใหญ่

จนถึงปัจจุบันการที่แกนนำคสช.และรัฐบาล ประกาศใส่เกียร์เดินหน้าโรดแม็ปเลือกตั้ง และพร้อมจะปลดล็อกเป็นเรื่องๆ ให้กับพรรคการเมือง หรือที่พล.อ.ประวิตร และนายวิษณุ ใช้คำว่าคลายล็อก

เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมแล้ว ในระดับที่มั่นใจได้ว่าศึกเลือกตั้งอีก 8-9 เดือนข้างหน้า

เมื่อถึงเวลานั้น พรรคพลังประชารัฐจะแข็งแกร่งพอ จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้

เพราะด้วยสภาพความจริงตอนนี้ สถานการณ์ต่างๆเริ่มเข้าทางรัฐบาลคสช. และพรรคพลังประชารัฐ กุมความได้เปรียบการเมืองไว้ได้ทุกจุด

ในขณะที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ประสบปัญหา นอกจากถูกประกาศคำสั่งคสช.ล็อกแขนขา ขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้ จนพรรคเริ่มอ่อนแรง

การเฟ้นหาตัวผู้นำพรรคคนใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน รวมถึงการมีกระแสข่าวอดีตส.ส.หลายคน เริ่มมีทีท่าอาจจะย้ายพรรคไปหาที่พักพิงใหม่ตาม “พลังดูด” ที่กำลังมาแรง

ตรงข้ามกับสถานการณ์ของรัฐบาลและคสช.ที่กลับมาคึกคัก จัดโปรแกรมครม.สัญจรเดินสายลงพื้นที่กันแบบถี่ยิบ ทุ่มงบประมาณนับหมื่นล้าน ผุดโปรเจ็กต์เอาใจชาวบ้านเป็นว่าเล่น

ท่ามกลางบรรยากาศอดีตส.ส. นักการเมืองจากทุกพรรค ไม่ว่าพรรคใหญ่ พรรคเก่า พรรคขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดเล็ก ที่มาแสดงตัว ต้อนรับ “ท่านผู้นำ” กันพร้อมหน้า

จากก่อนหน้านี้ที่เพิ่งมีการเปิดโพยรายชื่ออดีตส.ส.เกือบ 60 ชีวิต อ้างว่าต้องการมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงินกว่า 3 ล้านล้าน ผ่านการพิจารณาของสนช.วาระแรกอย่างราบรื่น ไปรอผ่านวาระ 2-3 แต่ก็คาดว่าไม่น่ามีปัญหา

ตามมาด้วยคิวจัดทัพแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ เขย่า ให้ลงตัวกันอีกรอบช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

ขณะที่การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น หากการแก้ไขกฎหมายเสร็จสิ้น ไม่มีอะไรติดขัดเหมือนที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยระบุ

ก็คาดว่าน่าจะมีขึ้นได้ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการชิมลาง สำรวจจุดแข็ง-จุดอ่อนก่อนการเลือกตั้งส.ส.ระดับชาติ

ทุกสิ่งทุกอย่างได้รับการคำนวณไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับแผนปูทางการสืบทอดอำนาจ

หรือหากถึงที่สุด พรรคพลังประชารัฐเกิดผิดพลาด ไม่สามารถรวบรวมจำนวน ส.ส.ในสภา ได้ตามเป้าที่ต้องการ คือ 250 เสียงขึ้นไป

ก็ยังมี 250 ส.ว.ลากตั้ง เป็นแผนสำรองสำหรับการขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ

ส่วนเมื่อได้เป็นนายกฯ แล้วจะจัดตั้งรัฐบาลอยู่บริหารประเทศไปได้นานขนาดไหน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นปัญหาที่ยังตอบไม่ได้ในตอนนี้

ที่เริ่มมีการพูดกันก็คือ หากคสช.สืบทอดอำนาจ ได้ เป็นนายกฯได้ ตั้งรัฐบาลได้ แต่เดินหน้าต่อไม่ได้ อาจต้องใช้วิธียุบสภาเลือกตั้งใหม่กันอีกรอบ หรือหลายๆ รอบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ

แต่ก็จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ไม่น้อย

ดังนั้นหนทางดีที่สุด คือการทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ และกล้ายอมรับผลเลือกตั้งที่ออกมา

ชนะก็เป็นรัฐบาล แพ้ก็เป็นฝ่ายค้าน ถ้ายังข้องใจก็รออีก 4 ปีแล้วค่อยกลับมาสู้กันใหม่ ให้ประชาชนตัดสินวนกันไป

ถึงจะเรียกว่า “คืนความสุข” ให้กับคนในชาติอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน