โครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน เป็นเรื่องที่ไม่มีเพียงผู้ปกครองเท่านั้นที่เรียกร้องการตรวจสอบ ประชาชนทั่วไปในสังคมสนใจติดตามด้วยเช่นกัน

เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของครอบครัวและโรงเรียน เป็นเรื่องทรัพยากรบุคคลของประเทศ เป็นเรื่องใช้งบประมาณรัฐ และเป็นเรื่องการตรวจสอบทุจริต

กรณีที่เป็นข่าวดัง เริ่มจากเมนูขนมจีนคลุกน้ำปลา ซึ่งดูแล้วไม่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็ก

อีกทั้ง ผลการสอบสวนเบื้องต้นคณะกรรมการสำนักงานพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานีเขตที่ 2 พบว่า การซื้อของในโครงการอาหารกลางวันน่าจะไม่ครบตามจำนวนที่ระบุตามรายการเบิกจ่ายเงิน

จึงต้องให้บุคคลที่รับผิดชอบออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอผลสอบสวนที่ชัดเจน

กรณีถัดมาเป็นเมนูข้าวมันไก่ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่นเขต 1 มีคำสั่งด่วนสั่งย้ายผู้เกี่ยวข้องระหว่างการสอบสวนเช่นเดียวกัน

หลังมีผู้ปกครองชั้น ป.1 ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ขอให้ตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันของนักเรียน พร้อมแสดงภาพยืนยันว่า ข้าวมันไก่ที่เด็กกินไม่มีลักษณะเหมือนที่ขายตามร้านค้าทั่วไป เนื่องจากไม่มีชิ้นไก่ให้เห็น

เมื่อกรณีนี้เป็นข่าวขึ้น โรงเรียนจึงปรับเมนูอาหารใหม่ให้นักเรียนเด็กเล็ก ระบุว่าเป็นเมนูที่คัดเลือกมาจากระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ ไทยสคูลลันช์

แสดงให้เห็นว่า การคัดเลือกเมนูนั้นมีหลักอยู่แล้ว เพียงจะปฏิบัติตามหรือไม่

ทั้งสองกรณีดังกล่าวบ่งบอกว่าการตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันตามโรงเรียนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ

ไม่เพียงผลกระทบที่มีต่อเด็ก แต่ยังเป็นเรื่องการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณที่รัฐจัดสรรว่าคุ้มค่าหรือไม่ ตกหล่นบ้างหรือไม่

เช่นเดียวกับกรณีโครงการของรัฐอื่นๆ รวมถึงเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเข้าไปตรวจสอบ และส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการดำเนินการทางวินัย 270 กว่าราย

บางเรื่องเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ แต่มีอีกหลายๆ เรื่องที่ประชาชนทั่วไปต้องช่วยกันตรวจสอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน