คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คํายืนยันจากประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกฎหมายว่าด้วยวิธี จัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำการปฏิรูป ระบุชัดเจนว่าจะต้องออกมาภายในระยะเวลา 120 วันหลังจากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว

หมายความว่าจะต้องรีบจัดทำกฎหมาย ดังกล่าวให้เสร็จเพื่อนำไปสู่การมียุทธศาสตร์และวิธีการปฏิรูปภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากนั้น

กรณีนี้เป็นเรื่องเดียวกับยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อกำหนดว่าอนาคตของประเทศไทยในภายภาคหน้าหน้าตาจะเป็นอย่างไร ตามที่คณะบุคคลในแม่น้ำห้าสายรณรงค์มาเป็นระยะ

พร้อมระบุด้วยว่า เป็นยุทธศาสตร์ไม่ได้คิดขึ้นมาได้เอง แต่เกิดจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาแล้ว

การไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องดีที่ควรทำ แต่ไม่ใช่ระบบที่ชัดเจนสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน

ดังนั้น การที่กมธ.เปิดช่องว่ากฎหมายนี้แก้ไขได้ รัฐบาลเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติได้ แต่ต้องทำกระบวนการสอบถามความเห็นของประชาชน และต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ยังพอจะเห็นถึงความตระหนักในกระบวนการทางประชาธิปไตยอยู่บ้าง

เพราะโดยหลักการแล้ว ยุทธศาสตร์หรือนโยบายของประเทศต้องนำเสนอสู่ประชาชนผ่านระบบการเมืองที่เปิดกว้าง มิใช่คิดกันเอง ว่าดี หรือเจตนาดีเท่านั้น

ในเมื่อสภาพบังคับของกฎหมายเหล่านี้ แม้ไม่มีบทลงโทษ แต่หากรัฐบาลชุดใดไม่ทำตามยุทธศาสตร์ อาจถูกกล่าวหาว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อันจะมีบทลงโทษร้ายแรงตามมา

การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านประชามติมาแล้วอาจเป็นขั้นตอนตัวอย่างที่กมธ.เห็นว่า การดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอาจมาในช่วงท้ายได้

แต่ผลของประชามติก็เป็นสิ่งสะท้อนความเห็นของประชาชนเช่นกันว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยเดินหน้าและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว

ขณะที่เสียงข้างน้อยในผลประชามติเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายภาคหน้านั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ด้วยกลไกที่กำหนดไว้

การแก้ไขยุทธศาสตร์ก็อาจเป็นเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน