บทบรรณาธิการ

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เกิดข้อถกเถียงในประเด็นกว้างขวาง ทั้งด้านผลกระทบวิถีชีวิตชุมชนผู้คนริมน้ำ ทั้งมุมมองทางสถาปัตยกรรม และการผังเมือง

มีข้อถกเถียงระหว่างชีวิตกับสิ่งปลูกสร้าง ความงดงามในแบบฉบับโรแมนติกกับความสวยงามแบบมีชีวิตตามสภาพความเป็นจริง

ก่อนหน้าโครงการก่อสร้างวิมานพระอินทร์ หรือพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในเรื่องรูปแบบลักษณะทางสถาปัตย กรรมที่ไปคล้ายกับอาคารในต่างประเทศ ตัวโครง การรวมทั้งหมดเองก็ถูกทักท้วงอย่างหนัก

เป็นลักษณะคล้ายกับกรณีรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

ระหว่างที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครพยายามเดินหน้าโครงการพัฒนาริมแม่น้ำระยะทาง 57 กิโลเมตร ทางฝั่งเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาสังคมก็พยายามท้วงติงถึงโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมไปถึงทัศนคติและมุมมองด้านสถาปัตยกรรมที่น่าจะต้องปรับปรุง

ภาพโรแมนติกริมแม่น้ำสายหลักตามที่เคยเห็นในต่างประเทศ อาจทำให้กลุ่มคนส่วนหนึ่งไม่ต้อง การเห็นสิ่งรกรุงรังจากชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา

แต่การก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะยกสูงกว่าระดับน้ำ 2.8 เมตร เพื่อบังทัศนียภาพ ริมฝั่งแม่น้ำตามสภาพความเป็นจริงนั้น ก็เป็น ที่กังขาว่าบดบังชุมชน วัด และอาคารเก่าแก่อันสวยงามต่างๆ

ที่สำคัญคือ คนที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงยักษ์ดังกล่าวทราบรายละเอียดในโครงการนี้แล้วหรือไม่ และมีปฏิกิริยาอย่างไร

ถึงวันนี้ ข้อเรียกร้องให้กทม.หยุดการดำเนินโครงการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณ และจัดให้กระบวนการมีส่วนร่วมให้ทั่วถึงแก่ประชาชน ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงนั้น ยังคงรอคำตอบว่าจะได้รับการตอบสนองอย่างไร

เรื่องนี้น่าจะสำคัญกว่ารูปแบบอาคารสวยอย่างวิมานพระอินทร์ ซึ่งแม้จะมีการแถลงยืนยันแล้วว่าอาคารแห่งนี้ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์มาจากศิลปะไทย และไม่ได้ลอกเลียนแบบสถาปัตยกรรมของต่างประเทศ

แต่ทัศนคติที่มองชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาต้องชัดเจนด้วยว่า ไม่ได้คิดฝันตามแบบใคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน