นายกรัฐมนตรี ได้นำร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

หลังจากนี้ไป ประเทศไทยก็จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว ประชาชนตั้งความหวังว่าบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยก็จะกลับคืนมา อีกครั้ง หลังจากถูกปกครองโดยรัฐบาลรัฐประหารมานาน

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนที่เคลื่อนไหวอยากให้มีการเลือกตั้ง ยังถูกฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แจ้งความดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีว่าจะยุติ

ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

นอกจากนี้ ฝ่ายการเมืองก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวคึกคักเช่นกัน โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ที่แบ่งความชัดเจนให้เห็นบ้างแล้วว่ามีเจตนารมณ์สนับสนุนให้คณะรัฐประหารมีอำนาจต่อไป กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และต้องหยุดยั้งด้วยมือของประชาชน

สำหรับพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมนั้น ยังไม่สามารถทำกิจกรรมได้เต็มที่ เนื่องจากยังติดขัดอยู่กับประกาศและคำสั่งของคสช.อย่างน้อย 2 ฉบับ แต่ก็หวังว่าจะได้รับการผ่อนคลายในเร็วๆ นี้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือมีนักการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนอำนาจปัจจุบัน สามารถออกเดินสายทาบทามอดีตส.ส.อย่างออกหน้าออกตา ขนาดมีเจ้าหน้าที่บางหน่วยคอยอำนวยความสะดวกให้ด้วย

น่ากังวลว่าจะกลับไปสู่วังวนที่เรียกว่าน้ำเน่าแบบเดิม

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งก่อนการยึดอำนาจ มีบางกลุ่มออกมาเรียกร้องอย่างมากคือการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง จนนำมาสู่การหยุดยั้งระบอบประชาธิปไตย และเหตุผลหนึ่งที่คสช.ชูขึ้นมาอ้าง ก็คือการปฏิรูปการเมือง

มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อมากลายร่างเป็นสภาปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จนกลายเป็นแผนปฏิรูปประเทศรวม 11 ด้านล่าสุด ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแค่ประกาศในกระดาษ

กรณีการรวบรวมการเมืองหน้าเดิม อดีตส.ส.บางกลุ่ม ตลอดจนการใช้อามิส อำนาจ และตำแหน่งต่างๆ บีบบังคับ และจูงใจให้มาเข้าร่วมเป็นฐานในการสืบทอดอำนาจ จึงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ

ซึ่งประชาชนต้องพร้อมใจกันปฏิเสธ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน