โทษประหารกลับมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันในสังคมอย่างเข้มข้น มีหลายคนประกาศตัวทั้งสนับสนุนและทั้งต่อต้านทางโซเชี่ยลมีเดีย

หลายคนพูดถึงหลักการ แต่หลายคนเอ่ย ถึงอย่างมีอารมณ์ จึงทำให้บรรยากาศของการถกเถียงเหมือนฝุ่นตลบ มองเห็นเนื้อหาได้เลือนราง อีกทั้งยังสำลักฝุ่นควันของอารมณ์ความเกลียดชัง

สองฝ่ายจึงตั้งมั่นอยู่ในแนวคิดของตนเอง และยากจะเปิดใจรับฟังอีกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม เมื่ออุณหภูมิของอารมณ์ลดลงแล้ว จะเป็นเรื่องดีที่คนในสังคมควรแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องโทษประหารอย่างจริงจัง

เพราะในข้อเท็จจริง เรื่องนี้บรรจุอยู่ในกฎหมาย แต่เว้นวรรคในการปฏิบัติมา 9 ปี กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 จึงหวนกลับมาอีก

ประเด็นหลักของฝ่ายสนับสนุนโทษประหารก็คือ บุคคลที่ก่อกรรมทำเข็ญร้ายแรงไม่สมควรได้รับการอภัย และไม่ควรได้โอกาสมีชีวิตอยู่อีก เพราะได้สร้างความเจ็บช้ำและสูญเสียให้แก่ผู้อื่นมากเกินกว่าจะรับได้

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าโทษประหารเป็นบทลงโทษขั้นเด็ดขาดที่จะช่วยทำให้คนไม่กล้าไปทำร้ายฆ่าแกงใครได้ง่ายๆ

ส่วนฝ่ายต่อต้านการประหารยกข้อมูลสถิติของประเทศที่ยกเลิกโทษประหารไปแล้วว่า การประหารชีวิตไม่อาจลดการก่ออาชญากรรมร้ายแรงค้ายาเสพติดให้ลดน้อยลง

อีกทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชน ความเป็นมนุษย์ด้วยกันไม่อาจตัดสินให้ใครอยู่หรือตายได้

สําหรับมุมมองของศาสนาศาสนิกชนจะไม่แก้แค้น หรือใช้วิธีรุนแรงแบบเดียวกับผู้ที่ก่อบาปกระทำต่อผู้อื่น

แม้การลงโทษอย่างรุนแรงอาจทำให้สะใจ แต่สุดท้ายไม่ได้ทำให้ความทุกข์หายไปได้

นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีทั้งในไทยและต่างประเทศที่ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม อาจผิดพลาดจนนำไปสู่การจับกุมและตัดสินลงโทษผิดคน

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าถกเถียงให้ถ่องแท้ และมองโลกตามความเป็นจริง

ดีกว่าการใช้ถ้อยคำดุดันเย้ยหยันกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่ามองโลกสวย หรือเสียดสีให้นำอาชญากรไปอยู่ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน