คล้ายกับว่าข้อกำหนดในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ในเรื่องการหารือระหว่าง 1 คสช. 1 กกต. กับ 1 พรรคการเมือง คือการวางหมากสำแดงการรุกในทางการเมือง
นอกเหนือไปจากการแก้ไขพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดย “มาตรา 44”
อันเท่ากับ “เซ็ต ซีโร” พรรคการเมืองเก่าโดยพื้นฐาน
แต่หากสังเกตอาการไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็จะสัมผัสได้ในความหงุดหงิด
เป็นความหงุดหงิดที่ต้องเปลี่ยนจากความรับผิดชอบของ นายวิษณุ เครืองาม เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลอยตัว

ตามหมายเดิมของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 การหารือคือ การสำแดงพลานุภาพของหัวหน้าคสช.ต่อพรรคการเมือง ไม่ว่าเก่า ไม่ว่าใหม่
แต่เมื่อประสบเข้ากับการลุกขึ้นยืนขวางจากพรรคเพื่อไทยว่าไม่ใช่เรื่องของคสช.
อำนาจจาก”คำสั่ง” ก็เริ่มเป๋
เป๋แรกสัมผัสได้จากน้ำเสียงที่ไม่ขึงขังเหมือนเดิมของ นายวิษณุ เครืองาม
เป๋ต่อมาคือ อาการลอยตัวของ”หัวหน้าคสช.”
เป๋ต่อมาคือ การส่งไม้ไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แทนที่จะเป็น นายวิษณุ เครืองาม
ผลก็คือ อาจมีไม่ต่ำกว่า 30 พรรคยินดีเข้ารับฟัง
แต่ไม่แน่ว่าจะเป็น “หัวหน้าพรรค” อาจจะดำเนินไปในลักษณะของ “ตัวแทน”
สถานการณ์จึงหะรอมหะแรมอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะมองการหารือในแง่ของ”การเมือง” ไม่ว่าจะมองการหารือในแง่ของ “การทหาร”
นี่คือ เงาสะท้อนแห่งความเป็น “อนิจจัง”
กลยุทธ์ที่กำหนดวางเอาไว้ผ่านคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 อาจต้องการเปิด”เกมรุก”เพื่อสยบต่อพรรคการเมืองให้ต้องจำนนภายใต้กฎเหล็กจากคสช.
ที่เคยคิดว่า “รุก” กลับกลายเป็น “ตั้งรับ”ไปโดยปริโยสาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน