โรดแม็ปคสช.เริ่มเห็นภาพชัดเจนมาก ขึ้นเรื่อยๆ

ต่อเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. แถลงหลังการ ประชุมครม.วันอังคารที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้ง จะมีขึ้น หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีสำคัญของประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า

ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จัดโปรแกรมหอบหิ้วครม.เศรษฐกิจ เดินสายสัญจร 2 ประเทศทวีปยุโรป

จับเข่าหารือ 2 ผู้นำ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แบบเฟซ ทู เฟซ หรือแบบตัวต่อตัว

ถึงหัวข้อการพูดคุยส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เป็นการสานต่อหลังจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีวาระการเมืองสอดแทรก

ตามข่าวรายงาน นางเทเรซา เมย์ เปิดบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ต้อนรับนายกฯไทย พร้อมระบุว่า ประเทศอังกฤษติดตามพัฒนาการของประเทศไทยมาตลอด

ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ยังติดตามพัฒนาการทางการเมืองและการปฏิรูป จึงอยากให้กำลังใจประเทศไทยในการพัฒนาประเทศไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นด้านต่างๆ ตามมา

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบนายกฯอังกฤษ ยืนยันการเดินหน้าการเมืองไทยไปสู่ประชาธิปไตย โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในต้นปีหน้า 2562 แน่นอน ก็เป็น อันชัดเจนกันไป

บวกกับรายงานข่าวการประชุมลับหลัง ครม. รัฐบาลได้ข้อสรุป โรดแม็ปเลือกตั้งอย่างช้าที่สุด อาจขยับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไปอีก 3 เดือน เป็นเดือนพฤษภาคม 2562

เป็นการเผื่อเวลาไว้แบบเต็มแม็ก สำหรับการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ที่ต้องรอ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ประกอบตามมาตรา 268 รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งส.ส.ภายใน 150 วัน นับจากวันที่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทุกฉบับมีผลบังคับใช้

สอดรับกับที่กล่าวยืนยันทั้งกับนายกฯเทเรซา เมย์ และนายนอร์แมน ฟาวเลอร์ ประธานสภาขุนนางอังกฤษ ว่าไทยจะมีการเลือกตั้งต้นปีหน้าตามโรดแม็ปเดิม ซึ่งถ้านับอย่างเร็วๆ ก็จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

สรุปจากคำพูดพล.อ.ประยุทธ์ ชัดๆ อีกทีก็คือ

การเลือกตั้งจะมีขึ้นแน่นอน อย่างเร็วกุมภาพันธ์ 2562 อย่างช้าพฤษภาคม 2562 ไม่เกินไปกว่านั้น

ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทุกอย่างเริ่มเป็นใจให้กับรัฐบาลคสช.

โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองตั้งใหม่ ภายใต้ภารกิจสืบทอดอำนาจที่กระแสเริ่มมา

หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำทีมครม.สัญจรลงพื้นที่หลายจังหวัดถี่ยิบ พบปะแกนนำกลุ่มก้อนนักการเมือง อดีตส.ส.เจ้าถิ่น

ปราศรัยกับชาวบ้าน ตีเกราะเคาะปี๊บโครงการประชารัฐ ที่บังเอิญชื่อไปตรงกับพรรคการเมืองตั้งใหม่ “พลังประชารัฐ” ที่มีรองนายกฯ และรัฐมนตรี “คีย์แมน” ในรัฐบาล อยู่เบื้องหลังก่อตั้ง และเดินสายเจรจารวบรวมนักการเมือง อดีตส.ส.มาเข้าร่วมสังกัด

จนถูกครหาเป็นการฉวยโอกาสนำกำลังคนของรัฐ และเงินงบประมาณแผ่นดินไปหาเสียงให้พรรคพลังประชารัฐ ที่วันนี้ชัดเจนแล้วว่ามีจุดยืนสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

ในขณะที่พรรคการเมืองในซีกตรงข้ามได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เพราะยัง “ติดล็อก”ประกาศคำสั่ง คสช. ขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเรียกประชุมพรรค จัดตั้งสาขา หาสมาชิก ทำไพรมารี่โหวต

ก็ต้องจับตาดูว่า ในการประชุมร่วมคสช.-พรรคการเมือง ที่สโมสรกองทัพบก วันจันทร์ที่จะถึงนี้

คสช.จะยอม “คลายล็อก” ให้มากน้อยขนาดไหน ที่แน่ๆ ไม่ใช่การ “ปลดล็อก” ให้ทั้งหมดแน่นอน

แต่ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้พรรคการเมืองคู่แข่ง โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

คือการเปิดตัวของกลุ่ม “สามมิตร” ประกอบด้วยนัก การเมืองใหญ่ 3 ส. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

หุ้นส่วนใหญ่พรรคพลังประชารัฐ ฐานกำลังหลักทางการเมืองของคสช.

นายสุริยะหายหน้าหายตาจากวงการไปนาน กลับมาอาสาขับเคลื่อน “พลังดูด” ประเดิมด้วยการเดินทางไป จ.เลย พร้อมกับนายสมศักดิ์ และนายอนุชา นาคาศัย อดีตส.ส.ชัยนาท กลุ่มมัชฌิมา ทั้งหมดเคยอยู่พรรคกิจสังคมด้วยกันมาก่อน

โดยมีนายปรีชา-นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข นายวันชัย บุษบา 3 อดีตส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย มารอต้อนรับถึงสนามบิน ก่อนเปิดฉากเจรจาเชื้อเชิญมาเข้าร่วมกลุ่มกันอย่างเปิดเผย

“ขณะนี้กลุ่มเราเรียกว่ากลุ่มสามมิตร ยังไม่ได้ตัดสินใจย้ายพรรค เพียงแต่ระดมกำลังตั้งเป็นกลุ่ม โดยให้นายสุริยะ เป็นหัวหน้ากลุ่ม นายสมศักดิ์และผมจะร่วมกันเดินสายไปจังหวัดต่างๆ ว่าจังหวัดไหนมีอดีตส.ส.พรรคไหน ที่มีความสนใจมาร่วมกลุ่ม” นายปรีชาระบุ และว่า พร้อมจะแถลงเปิดตัวทันที หากทุกอย่างชัดเจนจะประกาศไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม ทราบว่ายังจะมีอดีตส.ส.คนอื่นๆ ในภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย ย้ายตามมาอีกหลายคน เช่น จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม

กล่าวกันว่ากรณีอดีตส.ส.เลย เป็นแค่ “หนังตัวอย่าง”

ฉายให้เห็นเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐ อยู่ที่พรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

ส่วนประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่นๆ ถ้ามีอดีตส.ส.ติดไม้ติดมือมาก็ถือเป็นผลพลอยได้

แกนนำภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีตส.ส.มหา สารคาม ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา

อดีตส.ส.อีสานของพรรคกำลังอยู่ในสภาวะปั่นป่วน เนื่องจากถูกพรรคใหม่ใช้ “พลังดูด” อย่างหนัก

จากเดิมที่คาด อาจมีอดีตส.ส.ย้ายออกจากพรรค แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ประเมินแล้วน่าจะเกินกว่านั้นมาก คือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

และกลุ่มอดีตส.ส.เลยไม่ใช่กลุ่มสุดท้ายที่โดนดูดไป ส่วนจะเป็นกลุ่มจังหวัดใดอีกบ้าง รู้อยู่แต่พูดไม่ได้ บอกได้คำเดียวว่า “เหนื่อย เอาไม่อยู่แล้ว ถึงขั้นวิกฤต”

มีรายงานข่าวด้วยว่า การเดินสายดูดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยภาคอีสาน มีทั้งการสัญญาว่าจะให้ค่าใช้จ่ายมากถึง 10-15 เท่า และยังถูกกดดันหลายอย่าง โดยนำเรื่องคดีความมาบีบ ข่มขู่จะไม่รับรองความปลอดภัยหากยังอยู่กับพรรคเดิม

รวมถึงการยกระดับเป้าดูด จากรอบแรกดูดอดีตส.ส.แถวสอง หรือเกรดบี แต่รอบต่อมาเริ่มดูดอดีต ส.ส.แถวหนึ่ง หรือระดับเกรดเอ

เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เดินมาถึงจุดนี้

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่า ทำไมผู้นำ รัฐบาลและคสช.ถึงกล้ายืนยันโรดแม็ปเลือกตั้งต้นปีหน้าทั้งกับสื่อมวลชนในประเทศ และกับผู้นำ 2 ชาติยุโรป อังกฤษ-ฝรั่งเศส

ก็เพราะคสช.เริ่มมีความมั่นใจในรูปเกมการสู้ศึกเลือกตั้งในอีก 8 ถึง 11 เดือนข้างหน้า ประกอบกับการได้กลุ่มสามมิตรมาเป็นตัวขับเคลื่อนพลังดูด

ถึงตอนนั้นกระแสพรรคพลังประชารัฐ น่าจะไต่ระดับขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ไม่ยาก

เว้นเสียแต่ว่า เหล่าบรรดากองเชียร์คสช. ที่ไม่ใช่นักการเมือง จะเกิดอาการตะขิดตะขวงใจ

เพราะทั้ง “สุริยะ-สมศักดิ์” หรือแม้แต่ “สมคิด” เอง ทั้ง 3 คนก็คือ “อดีตขุนพล”พรรคไทยรักไทย หรือทรท. เคยอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับ “ทักษิณ” มาด้วยกัน

ก่อนจะแยกทางตัวใครตัวมัน หลังเหตุการณ์ รัฐประหารคมช.เมื่อปี 2549

ตอนนี้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในค่ายใหม่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อสานเจตนารมณ์สืบทอดอำนาจ ให้คสช.

จากภาพที่เห็น จึงไม่ใช่แค่โครงการ “กองทุนหมู่บ้าน” ในยุครัฐบาลไทยรักไทยเท่านั้นที่ถูกนำมา “ย้อมแมว” ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชารัฐ

แม้แต่พรรคพลังประชารัฐเอง แกนนำส่วนหนึ่งก็ยังเป็นชุดเดียวกับแกนนำอดีตพรรคไทยรักไทย

เป็นการปฏิรูปการเมืองจาก”ระบอบทักษิณ” มาเป็น”ระบอบคสช.”

ที่เนื้อแท้การได้มาซึ่งอำนาจไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเสียเท่าไหร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน