คําแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต่อกรณีมีผู้ร้องขอให้ทบทวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อปี 2553 ไม่เพียงทำให้เกิดคำถามต่อห้วงเวลานี้ แต่จะมีผลต่อไปในอนาคตด้วย

เนื่องจากตัดทิ้งประเด็นสำคัญที่สุดในคดีนี้ออกไป

นั่นคือความสูญเสียในชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และเป็นพลเรือนที่ล้วนไร้อาวุธ

คำอธิบายอันยืดยาวที่จะไม่รื้อคดีนั้นเป็นเหตุผลรองรับมาตรการของรัฐบาลในยุคนั้น ว่าปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมาย โดยไม่เอ่ยถึงชีวิตคนที่ถูกสังหารและถูกทำให้บาดเจ็บหรือพิการ

ป.ป.ช.จึงควรทบทวนอีกครั้งว่า นี่เป็นสิ่งที่ต้องการให้คนจดจำในประวัติศาสตร์ใช่หรือไม่

เหตุผลที่ป.ป.ช.พิจารณาว่า การสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัว เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 10 เม.ย. ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น เป็นเพราะการ ชุมนุมของนปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่

ทั้งระบุว่าศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ใช้มาตรการขอพื้นที่คืน โดยกำหนดวิธีการ และหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเป็นลำดับชั้นอย่างถูกต้อง

เมื่อเปรียบกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 พบว่าไม่มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม ถือว่ารัฐบาลชุดนั้นการกระทำมีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157

เป็นคำถามอีกว่า คำอธิบายเหล่านี้ป.ป.ช.ต้องการให้บันทึกในประวัติศาสตร์ใช่หรือไม่

หากป.ป.ช.ต้องการให้การตัดสินใจดังกล่าวของตนเองเป็นที่จดจำเช่นนี้ ก็น่าสงสัยอยู่ว่า องค์กรอิสระที่แต่งตั้งในช่วงเวลาที่ประเทศไร้ประชาธิปไตยและไม่มีส่วนยึดโยงใดๆ กับประชาชน สมควรให้ประชาชนตัดสินการทำงานอย่างไร

คณะบุคคลที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รับรองการตัดสินใจของรัฐบาลที่ใช้กำลังทหารและกระสุนจริง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงตัดแยกความตายของพลเรือนที่เป็นเด็ก เป็นประชาชนคนสามัญออกไป ให้หน่วยงานอื่นจัดการเอง

โดยไม่สามารถตอบได้ว่า เหตุใดผู้มีอำนาจตัดสินใจจึงไม่ต้องรับผิดชอบกับความตายของประชาชนที่สมควรได้รับการปกป้องคุ้มภัยและความยุติธรรม แทนที่จะถูกยัดเยียดความตาย ความเข้าใจผิด และความเพิกเฉยดูดาย

คำถามเหล่านี้จึงน่าจะติดไปกับประวัติศาสตร์ของคณะกรรมการป.ป.ช. ตลอดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน