เป็นเรื่องบังเอิญที่ผู้นำซึ่งมาจากการรัฐประหารไปเยือนยุโรปในช่วงครบรอบ 86 ปีวันปฏิวัติสยาม หรือวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

เป็นเรื่องบังเอิญด้วยเช่นกันว่า มหาอำนาจยุโรป ที่ไปเยือน ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างเคยเป็นเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคอาเซียนมาก่อน และเคยประชันอำนาจในการใช้สยามเป็นรัฐกันชนมาแล้ว

ทั้งสองประเทศมีอิทธิพลในด้านแนวคิดหลักการทางการเมืองการปกครอง ระบบศาลสถิตยุติธรรม ไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเลิกทาส วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อประเทศไทยและ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

ดังนั้นน่าจะเข้าใจได้ดีและลึกซึ้งว่า ประเทศไทยและชาติอดีตอาณานิคมนำหลักการและแนวคิดไปปรับใช้ได้ผลเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพหรือบิดเบี้ยวไปอย่างไร

สําหรับการไปเยือนของผู้นำไทยตามคำเชิญของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสมีประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ

ประเทศทั้งสองมีผลประโยชน์จากการค้าขายและลงทุนอยู่ที่รัฐกันชนแห่งนี้มาช้านาน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรเสียฐานและสัดส่วนเดิมตรงนี้ไป

ส่วนคำมั่นสัญญาว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า เป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งคงไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของประเทศประชาธิปไตยเสียหลักการมากเกินไป และอีกฝ่ายก็จะได้แสดงตัวบ้างว่ายังจะเดินหน้าไปในแนวทางสากล หลังจาก 4 ปีมานี้กระชับอำนาจอยู่ไม่ปล่อย

ในที่นี้รวมถึงการปลดล็อกที่ยังยืดเยื้อเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองในประเทศต่อไป แม้จะมีการพูดถึงการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง

ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ประเทศไทยไม่อาจเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยได้อย่างต่อเนื่อง การยึดอำนาจโดยทหารหรือกองทัพน่าจะเป็นส่วนที่ชัดเจน

แต่ส่วนประกอบใหญ่คือกลุ่มผู้มีสถานะได้เปรียบทางสังคม นิยมระบบเจ้าขุนมูลนายที่ยังควบคุมอำนาจการตัดสินใจแทนประชาชนคนเดินดินไว้ทั้งหมด

ทุกวันนี้จึงไม่ได้มีเพียงคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พ่วงด้วยรัฐบาลและสภานิติบัญญัติฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระ และกระบวน การยุติธรรมที่ไม่มีกลไกยึดโยงกับประชาชน

ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และอีกหลายกรรมการที่ควบคุมบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดขึ้นเอง โดยไม่สนใจสิทธิความเกี่ยวข้องของผู้อื่น

ชาติตะวันตกที่ผูกมิตรทำมาค้าขายกับประเทศไทยมาช้านานคงจะมองออก แต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ธุระสำคัญของเขาแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน