พลเมืองชั้นสอง เป็นเรื่องที่น่าทำความเข้าใจอย่างยิ่ง หลังจากมีผู้จุดประเด็นทางการเมืองว่าคนไทยที่หนีไปอยู่ต่างประเทศเท่ากับไปอาศัยประเทศอื่นอยู่และอยู่อย่างพลเมืองชั้นสอง

หากพิจารณาความหมายของพลเมืองชั้นสองที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า second-class citizen คือบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติจากการแบ่งแยก เชื้อชาติ สีผิว

กล่าวคือจะไม่ได้มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองหรือระบบยุติธรรมเท่าเทียมกับพลเมืองอื่นๆ

พลเมืองชั้นสองอาจไม่ได้เป็นทาส อาชญากร หรือบุคคลนอกกฎหมาย แต่จะถูกจำกัดสิทธิ และโอกาสทางสังคม ถูกละเลยเพิกเฉย ไม่ได้สวัสดิการทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็น

อีกทั้งยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีสถานะทางสังคมสูงกว่า

กรณีอดีตผู้นำไทยสองคนหนีไปอยู่ต่างแดนและได้รับสิทธิให้พำนักอยู่อาศัย เป็นไปตามการพิจารณาของรัฐบาลประเทศนั้นๆ

ส่วนจะอยู่ในสถานะเป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่มองได้ไม่ยากนัก

เพราะคำว่าพลเมืองชั้นสองเป็นคำติดลบที่นานาประเทศย่อมไม่อยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นคำที่อยู่ในข่ายเดียวกับการรังเกียจเหยียด สีผิว-ชาติพันธุ์ สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางสังคม

กรณีโรฮิงยาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเป็นพลเมืองชั้นสอง เช่นเดียวกับผู้อพยพจากอเมริกากลางที่ลักลอบเข้าสหรัฐอเมริกา และผู้อพยพจากแอฟริกาที่หลั่งไหลเข้ายุโรป

เป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าคดีบุคคลลี้ภัยทางการเมือง

นอกเหนือจากเรื่องพลเมืองชั้นสองที่เป็นคนต่างด้าวแล้ว สิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยไม่พึงปรารถนาให้เกิดในสังคมของตนเองคือการแบ่งชนชั้นวรรณะ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง

เพราะพื้นฐานความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เน้นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรมและชอบธรรมของคนในสังคมที่เท่าเทียมกัน

หากมีกลุ่มประชาชนถูกเลือกปฏิบัติ ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกริบอำนาจในการตัดสินใจ อยู่ในสถานะที่ไม่ต่างจากพลเมืองชั้นสอง แสดงว่าประสิทธิภาพของรัฐบาลนั้นๆ กำลังมีปัญหา

และแสดงให้เห็นว่าพลเมืองชั้นสองไม่ใช่คนที่อยู่ต่างประเทศเสมอไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน