ไม่ว่าปฏิบัติการใช้ “พลังดูด” ไม่ว่าปฏิบัติการกดดันเพื่อนำไปสู่การยุบ “เพื่อไทย”
มิได้เป็น “นวัตกรรม” หากเป็น “กลยุทธ์”
เป็นกลยุทธ์อันเก็บรับบทเรียนมาจากประเทศเผด็จการบางประเทศ อย่างที่สื่อบางฉบับสรุปว่าเป็น “ฮุนเซน โมเดล”

เป็นกระบวนการที่เคยเกิดตั้งแต่ยุค พ.ศ.2500

ดังตัวอย่างที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำมาใช้ผ่านพรรคเสรี มนังคศิลา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำมาใช้ผ่านพรรคชาติสังคมและจอมพลถนอม กิตติขจร นำมาใช้ผ่านพรรคสหประชาไทยในปี 2512
หลังรัฐประหาร 2549 ก็มีพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย มิใช่หรือ

กล่าวสำหรับการกดดันผ่านกระบวนการ “ยุบพรรค” ในห้วงแห่ง 1 ทศวรรษนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
เดือนพฤษภาคม 2550 ก็ยุบพรรคไทยรักไทย
และเมื่อมีการจัดตั้งพรรคพลังประชาชนและสามารถกำชัยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ได้
เดือนพฤศจิกายน 2551 ก็ยุบพรรคพลังประชาชน
นั่นก็คือ การใช้กระบวนการต่อพรรคพลังประชาชนเหมือนกับที่ทำมาแล้วกับพรรคไทยรักไทย
แล้วผลเป็นอย่างไร

ผลก็คือ 1 มีการจัดตั้งพรรคเพื่อไทยขึ้น และ 1 ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยก็ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น
ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
หากความพยายามในการยุบพรรคเพื่อไทยประสบผลสำเร็จ การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือย้ายไปอยู่พรรคใหม่ก็เกิดขึ้นอีก
เท่ากับเป็นการ “อวตาร” ในทาง “การเมือง”

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนพฤษภาคม 2562
แต่แต่ละจังหวะก้าวทั้งหมดนี้ล้วนยืนยัน
การต่อสู้เพื่อเอาชนะกันในทางการเมืองดำเนินอยู่ตลอดเวลาและไม่เคยหยุดนิ่ง การเลือกตั้งเสมอเป็นเพียงวันๆหนึ่ง
สำคัญก็ตรงที่เป็นการชี้ขาดชัยชนะและพ่ายแพ้

(FootNote:ยุทธศาสตร์เยี่ยมพลังประชารัฐ ประสานรวมพลังประชาชาติไทย)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน