กระแสการเมืองเริ่มเอียงมาทางฝั่งคสช.และรัฐบาลแบบเต็มๆ

โรดแม็ปเลือกตั้ง เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน

ภายหลังพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เปิดสโมสรทหารบก

นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมหารือร่วม ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนพรรคการเมือง 199 คน จาก 74 พรรค เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หลังประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงสรุปผลการหารือ เริ่มจากกล่าวถึงปัจจัย 5 ข้อ ที่มีผลต่อโรดแม็ปเลือกตั้งว่าจะช้าหรือเร็ว ได้แก่

1.ความสงบเรียบร้อยช่วงจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.การจะได้รับพระราชทานกฎหมายการเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายส.ว. ทั้ง 2 ฉบับกลับลงมาเมื่อใด 3.การผลัดเปลี่ยน กกต.จากชุดเก่าเป็นชุดใหม่ แต่ไม่ว่าจะมีกกต.ชุดใหม่หรือไม่ กกต.ชุดเก่าก็ยังทำหน้าที่ได้จนถึงที่สุด 4.การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใด เพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้ซ้ำในเดือนเดียวกัน และ 5.ความสงบเรียบร้อยของประเทศ

สำหรับเส้นทางไปสู่โรดแม็ปเลือกตั้ง แบ่งเป็น 3 เงื่อนเวลา ตามสูตร 3+3+5 หรือ 11 เดือนนับจากนี้

3 เดือนแรก ก.ค.-ก.ย.2561 เป็นช่วงทูลเกล้าฯ และรอขั้นตอนโปรดเกล้าฯ ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ โดยช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการใดได้

3 เดือนที่สอง เมื่อโปรดเกล้าฯ ร่างกฎหมายลงมา ระหว่างรอกฎหมายเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ 90 วัน จะอยู่ในช่วงกลางเดือนก.ย.ถึงกลางธ.ค. ระหว่างนี้จะเสนอให้กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง 60 วัน และทำไพรมารีโหวต 30 วัน

ช่วง 5 เดือนสุดท้าย ระหว่างม.ค.-พ.ค.2562 เป็นช่วงกำหนดวันเลือกตั้ง

โดยที่ประชุมวางตุ๊กตาไว้ให้เป็นวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน เริ่มตั้งแต่เร็วที่สุด 24 ก.พ.2562 ถ้าไม่ได้ก็เป็น 31 มี.ค.2562 หรือ 28 เม.ย.2562

จนถึงอย่างช้าที่สุดวันที่ 5 พ.ค.2562

สำหรับการ”คลายล็อก”พรรคการเมือง ให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองได้นั้น จะอยู่ในช่วง 3 เดือนที่สอง ประมาณก.ย.-ธ.ค.2561

เพื่อให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ร่างข้อบังคับพรรค จัดหาสมาชิกพรรค ให้ความเห็นต่อกกต.ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดตั้งกรรมการพรรค เพื่อเตรียมตัวจัดตั้งสาขาและหาผู้สมัครได้ เท่านั้น

ย้ำว่ายังไม่ใช่”ปลดล็อก”ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงจะต้องยกเลิกประกาศ 3 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2557, 3/2558 และ 53/2560

ส่วนจะปลดล็อกโดยสิ้นเชิงได้เมื่อไหร่ และวันเลือกตั้งที่แน่นอนคือวันไหน

จะรู้ต่อเมื่อมีการประชุมหารือระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองครั้งที่ 2 คาดว่าจะเป็นเดือนก.ย.2561 หลังจากกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

โดยในการประชุมหารือร่วมครั้งที่ 2 นี้ รัฐบาลยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะมานั่งเป็นประธานการประชุมรับฟังด้วยตนเอง

ถึงวันนั้นทุกอย่างจะชัดเจนทั้งหมด

รวมไปถึงการตัดสินใจของตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง ตามที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ ช่วงเดินทางไปเยือนประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า

กำลังพิจารณาว่าจะเข้าร่วมกับพรรคการเมืองหรือไม่ในเดือนก.ย.นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่านโยบายของตน จะยังคงอยู่ในรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับคนไทย

อย่างไรก็ตามหลายคนมองว่า อาจไม่จำเป็นต้องรอถึงเดือนก.ย. เพราะดูจากพฤติการณ์ต่างๆ ในตอนนี้ ก็พอจะสรุปแบบ”ฟันธง”ได้เลยว่า

พล.อ.ประยุทธ์จะลงเล่นการเมือง ด้วยการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองตั้งใหม่เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจโดยเฉพาะ

ซึ่งล่าสุดแกนนำผู้อยู่เบื้องหลังพรรค ได้เปิดตัวแสดงจุดยืนชัดเจน พร้อมจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ทั้งแสดงความมั่นใจหลังเลือกตั้งต้นปี 2562

พรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

หันมาดูสภาพพรรคคู่ปรับใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย กำลังอยู่ในภาวะระส่ำ อ่อนกำลังอย่างเห็นได้ชัด

ถึง“นายใหญ่”จะวิดีโอคอลส่งสัญญาณข้ามทวีปจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มายังแกนนำพรรค มั่นใจว่าเพื่อไทยจะยัง “เขียวทั้งอีสาน” และเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย

แต่ก็ถูกมองเป็นการส่งสัญญาณแบบลอยๆ

ขณะที่สถานการณ์ความเป็นจริงเท่าที่เห็น พรรคเพื่อไทยกำลังตกอยู่ในสภาพเลือดไหลไม่หยุด โดยเฉพาะนักการเมืองอดีตส.ส.ภาคอีสาน ที่เคยเป็นฐานกำลังหลัก ต้านแรงดูดไม่อยู่

ทั้งที่โดนกดดันเรื่องคดีความ และการนำเอาปัจจัยเงินๆ ทองๆ หรือผลประโยชน์อื่นมาล่อ จนใจอ่อนเตรียม”แปรพักตร์”ย้ายค่ายกันจำนวนมาก

แกนนำพรรคบางคนต้องรีบออกมาตัดเกม แฉกลับขบวนการ 4 ประสาน ประกอบด้วย คสช. กกต. ป.ป.ช. และพรรคการเมืองเก่าแก่ ร่วมมือกันจ้องทำลายพรรคเพื่อไทย

ตั้งแต่ความพยายามที่จะ “ยุบพรรค” หยิบยกเรื่องแถลงผลงานความล้มเหลวของรัฐบาล 4 ปี และกรณีคลิปวิดีโอคอลของนายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นประเด็น

ควบคู่ไปกับการใช้สรรพกำลังทุกด้านในการดูดอดีตส.ส.ของพรรค

มีความพยายามรื้อฟื้นคดีเก่าๆ เช่น คดีทีพีไอ คดีเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ ขึ้นมาดำเนินคดีกับนายทักษิณ และนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย

สอดรับกับที่หัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่ ฉวยโอกาสผสมโรงผู้มีอำนาจ ออกมาตำหนิ “ทักษิณ” เป็นต้นเหตุปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศ

โดยไม่ยอมพูดถึงพรรคการเมืองที่เคยบอยคอตเลือกตั้งถึง 2 หน และทำให้เกิดการรัฐประหารทั้ง 2 หน

ไม่พูดถึงรัฐบาลที่เกิดปฏิบัติการทำให้มีคนตาย 99 ศพจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553

ไม่พูดถึงว่านักการเมืองคนใดบ้างที่คล้องนกหวีด ออกมาประท้วงพร้อมกับกลุ่ม กปปส. สร้างความเสียหายแก่ประเทศในทุกมิติ ทำให้ประชาชนชาวรากหญ้า อยู่ไม่ดี มีทุกข์จนถึงปัจจุบัน

แต่เสียงของแกนนำเพื่อไทยก็ถูกมองว่า เป็นเพียงเสียงโวยวายของคนกำลังจนตรอก รู้ตัวว่ากำลังจะพ่ายแพ้

ด้วย”พลังดูด”ระดับซูเปอร์ไฮเพาเวอร์ของ”กลุ่มสามมิตร”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “3 ส.”ตัวหลัก แห่งพรรคพลังประชารัฐ กับตัวเลขล่าสุด ทั้งดูด-ทั้งดึงมาได้แล้วกว่า 80 คน

ประกอบกับกลไกกับดักต่างๆ ที่แม่น้ำ 5 สาย ร่วมกันจัดวางไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด

น่าจะทำให้เป้าหมาย 250 ส.ส.เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการครองอำนาจระยะยาว เริ่มมองเห็นความสำเร็จอยู่รำไร

ยังไม่นับพรรคส.ว.ที่มีตุนไว้แล้ว 250 เสียง ตามที่ท่านผู้นำ เจ้าของฉายา “สฤษดิ์น้อย” บอกจะเป็นคนเลือกเข้ามาเอง

สุดท้ายด้วยสภาพของพรรคคู่แแข่งที่ถูกทำให้อ่อนแอ หมดทางต่อสู้

จึงไม่แปลกที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมั่นใจ หลังเลือกตั้งต้นปี 2562

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะไปต่อได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน