บทบรรณาธิการ

ในงานเสวนาว่าด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ จัดโดยสถาบันการศึกษาในกรุงเทพฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกคนหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงความคาดหมายว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 จะประกาศใช้ได้ในเร็ววัน

พร้อมให้รายละเอียดถึงเป้าหมายของการเขียนรัฐธรรมนูญว่าจะให้ทุกคนอยู่ในกรอบ ให้คนเข้าสู่ระบบมีแบบแผนมากขึ้น มีทิศทาง และกลไกบังคับให้รัฐต้องปฏิรูปบ้านเมือง จึงไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อวันนี้แต่คิดไปถึงวันข้างหน้า

คำอธิบายเหล่านี้บอกทุกอย่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะสถานการณ์ในวันนี้ แต่หมายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ความคิดของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 เป็นอีกครั้งที่มาจากความตั้งใจดีแต่ขาดประชาธิปไตยตั้งแต่เริ่มต้น

ที่มาของการร่างเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างแน่ชัด รวมไปถึงผลประชามติที่ออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่ยอมรับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แต่ผลการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของสถาบันนิด้าตอกย้ำอีกครั้งว่า ร้อยละ 42.37 ระบุว่าไม่เคยอ่านและไม่เคยรับรู้ อีกร้อยละ 34.57 ระบุว่า ไม่เคยอ่าน แต่เคยได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหา

การยอมรับร่างจึงเป็นไปตามกรอบเพื่อแลกกับความคาดหวังให้ระบบการเมืองกลับคืนสู่สภาพปกติ อันจะมีผลต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน

ความภูมิใจของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 20 ว่าต่างจาก 19 ฉบับที่เคยมีมา คือมีบัญญัติให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากกรอบที่ตั้งเป้าหมายไว้นี้ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย

เหมือนกับการที่สถาปนิกจะออกแบบบ้านใหม่ให้ครอบครัวอยู่อาศัย ต้องถามสมาชิกในครอบครัวว่าต้องการให้บ้านเป็นอย่างไรก่อน เพราะคนในครอบครัวย่อมรู้ดีว่าต้องการใช้สอยอย่างไร

มิใช่ให้สถาปนิกที่ออกแบบตามความคิดตนเป็นที่ตั้งเพื่อให้บ้านดูสวยเฉพาะภายนอก แต่การใช้งานจริงมีอุปสรรคมากมายหรืออาจทำให้คนในบ้านทะเลาะกันจนอยู่ไม่เป็นสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน