หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม มองการเดินสายของกลุ่มสามมิตร ไม่ขัดคำสั่งคสช.

และชัดเจนว่าเป้าหมายกลุ่มสามมิตรคือการสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ประกาศผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อ

เสียงวิจารณ์คสช.สองมาตรฐานก็ยิ่งดังขึ้น

พรรคเพื่อไทยเปรียบเทียบกับการแถลงประเมิน ผลงาน 4 ปีรัฐบาล ที่แกนนำพรรคถูกดำเนินคดี

ก่อนยื่นกกต.สกัดการตั้งพรรค พปชร. อ้างความเคลื่อนไหวดูดอดีตส.ส.ของกลุ่มสามมิตร มี 4 รัฐมนตรีร่วมรู้เห็น

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล,อดีต กกต.

การที่กลุ่มสามมิตรเดินสายเคลื่อน ไหวทางการเมืองนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่ก็ควรให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองอื่นๆ เคลื่อนไหวได้ด้วยในลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นการแข่งขันกันไปอย่างเปิดกว้างและเสรี

และเพื่อความเที่ยงธรรมอย่าใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบางพรรคถึงดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองได้ ให้สัมภาษณ์ได้ แต่่บางพรรคถูกดำเนินคดีเมื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ขอพูดในหลักการว่าควรเปิดให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้โดยเสรี ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใด เพราะไม่เห็นว่าพวกเขาจะทำอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิบุคคลอื่น หรือทำอะไรที่ไม่ดีงามต่อศีลธรรม เขาทำไปตามกรอบที่ควรจะทำ

โดยประชาชนก็จะพิจารณาเองว่าชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่แต่ละพรรคกระทำ ไม่จำเป็นต้องมีพี่ใหญ่มาตัดสินว่าอันนี้ทำได้หรืออันนี้ทำไม่ได้ หมายความว่าหากเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามปกติก็ควรให้ดำเนินการได้ทุกกลุ่ม

ส่วนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกลุ่มสามมิตรจะขัดคำสั่งคสช.หรือไม่นั้น ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำสั่งคสช. จึงไม่อยากจะวิจารณ์ว่าขัดหรือไม่ขัด เพียงแต่เห็นว่าแต่ละกลุ่มน่าจะดำเนินการได้

ขณะเดียวกัน ที่มีรายชื่อรัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดูด ส.ส. ก็คงต้องดูกันว่ารัฐมนตรีที่ถูกอ้างถึงเขาว่าอย่างไร ส่วนหนึ่งก็บอกว่าเขาไม่เกี่ยว ไม่ได้ไปทำตามที่เป็นข่าว ประชาชนที่รับสารก็คงต้องชั่งน้ำหนักเอง

ส่วนข้อวิจารณ์ที่ระบุว่ากลุ่มสามมิตรหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้กล้าที่จะเคลื่อนไหวนั้น ส่วนตัวสรุปมานานแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตรงนี้ก็เป็นข้อมูลเสริมในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม แต่ละพรรคก็คงทำกิจกรรมของตัวเองอยู่ จะไปติดต่อทาบทามใครมาลงสมัครในนามของพรรค หรือเขตเลือกตั้งใดก็ลองทำดู ไม่ต้องไปอ้างว่าขัดคำสั่ง ขัดกฎหมายใด เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะพูดคุยกันในเรื่องของการหาคนมาสมัครในนามของพรรค

การหาสมาชิกก็หาไปก็ทำกิจกรรมไป รัฐธรรมนูญให้สิทธิอยู่แล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็เขียนมาแล้วว่าให้ทำอะไรบ้าง แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐ ธรรมนูญก็กลายเป็นมาตรา 44

ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้เป็นอนิจจังจริงๆ รัฐธรรมนูญออกมาแล้วก็ยังแพ้มาตรา 44 ประเทศอื่นคงไม่ทำกันแบบนี้

สดศรี สัตยธรรม

อดีตกกต.

พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองแม้จะประกาศใช้แล้วแต่กกต.ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ และยังติดในคำสั่งคสช. ที่ 53/2560 ฉะนั้นความสมบูรณ์ของพรรคการเมืองก็ยังไม่มี เป็นได้เพียงกลุ่มทางการเมือง

ที่มีการเดินสายติดต่ออดีตส.ส.ให้เข้าร่วมกับ พปชร.ก็เป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนว่าพรรคดังกล่าวได้ดำเนินการทางพรรค การเมืองแล้วหรือไม่ โดยในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 30 ระบุว่าห้ามมิให้พรรคใดให้เสนอหรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด

และมาตรา 31 ระบุห้ามมิให้ผู้ใดเรียกรับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมือง หรือผู้ใดเพื่อเสนอเข้าเป็นสมาชิก

การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่มีในลักษณะเช่นนั้น ยังไม่รู้ว่ากลุ่มนี้เสนอผลประโยชน์ให้ และยังไม่ชัดเจนว่าพรรคนี้เป็นพรรคของคสช.หรือไม่ คงรอดูกันว่าหลังคสช.ปลดล็อก ทุกพรรคจะแสดงกิจกรรมของพรรคอย่างไร

แล้ววันนั้นค่อยมาดูว่าพรรคดังกล่าวมีพลังอะไรในลักษณะที่ครม.ชุดนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง และถ้าครม.หรือผู้ที่อยู่ในส่วนของคสช.ไปเสนอสิ่งต่างๆ ให้กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้จะเข้าตามมาตรา 30 และ 31 หรือไม่

อย่างไรก็ตาม คสช.และกกต.ควรทำอะไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หากมีพฤติการณ์อย่างที่วิจารณ์กันก็ต้องมีการสอบสวน เมื่อดำเนินการกับพรรคอื่นแล้วก็ควรจะดำเนินการกับกลุ่มสามมิตรด้วยว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้มีเงื่อนงำทางการเมืองอย่างไรบ้าง เข้าข่ายมาตรา 30 และมาตรา 31 หรือไม่

เพราะกกต.ถือเป็นหน่วยงานอิสระจะทำอะไรก็ควรมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ที่มีการดูดคนเข้าพรรค ลักษณะเตรียมพร้อมจะเป็นรัฐบาลนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพรรคประสงค์จะเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว

การจะให้ทุกอย่างจบลงด้วยดีนั้นใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน มีแต่บทกำหนดโทษในมาตรา 109 เป็นแค่บทลงโทษ กำหนดโทษเท่านั้นเอง

แต่กกต.จะไปหาหลักฐานการดำเนินการต่างๆ นั้นคงยาก คงไม่ไปรู้ได้อย่างชัดเจนว่ามีการต่อท่อน้ำเลี้ยงกันจริงหรือไม่ หรือมีการสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้กันหรือไม่ ถ้าทำคงไม่ทำเปิดเผย

แนะนำให้ใช้มาตรา 44 ออกข้อกำหนดว่าบุคคลใดที่เคยเป็นสมาชิกใดต้องงดเว้นไม่ให้ย้ายพรรคที่จดตั้งพรรคใหม่ อาจกำหนดระยะเวลา 5 ปี ย้ายเข้าพรรคใหม่ไม่ได้ วิธีนี้จะเป็นการปรามไม่ให้มีการดูดเกิดขึ้นได้ และจะทำให้คสช.ถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้

แม้ขณะนี้พรรคการเมืองยังติดคำสั่งคสช.ไม่ให้เคลื่อนไหวหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ก็จะมีข้ออ้างได้ว่าแค่มารับประทานอาหารร่วมกัน ข้ออ้างของนักการเมืองนั้นมีตลอดเวลา ที่ผ่านมามีการดูดคนเข้าพรรคมากมายแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้ ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็ใช้มาตรา 44 ออกข้อกำหนดดังกล่าว

ส่วนกระแสที่ว่ารัฐมนตรีบางส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูดคนนั้นต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ทำได้ยาก และการที่หลายคนมองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรทำได้ไม่ขัดอะไรก็คงเป็นมุมมองหนึ่ง หลักฐานการพิสูจน์มันยาก และถ้าคสช.ใช้มาตรา 44 กำหนดแก้ปัญหานี้ จะทำให้คนมองว่าคสช.และคนในรัฐบาลนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

เรื่องนี้คงต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพฤติการณ์นี้เข้าข่ายมาตรา 30 และมาตรา 31 หรือไม่ เพราะขณะนี้ต่างคนต่างรับฟ้อง เพื่อไทยก็ดำเนินการฟ้องกลุ่มสามมิตร ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร ก็อาจเข้าข่ายมาตรา 28 และมาตรา 29

ฉะนั้นเอาเรื่องนี้มารวมกันและกกต.วินิจฉัยชี้ขาดแล้วยังไม่จบที่กกต. ก็ต้องส่งเรื่องให้ยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 109 ได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

แม้จะมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยไปร้องกกต. กรณี พปชร.ที่กำลังเดินสายดูดอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยไปร่วมสังกัดผิดกฎหมายพรรคการเมือง เนื่องจากมีการเสนอเงินจูงใจ และขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ห้ามคณะรัฐมนตรีดำเนินการจนอาจทำให้การเลือกตั้งมีความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะมีกระแสข่าวว่ารัฐมนตรีรัฐบาลคสช.บางราย กำลังขับเคลื่อนพรรคพปชร.นั้น

ก็เชื่อว่ากกต.จะไม่สามารถดำเนินการกับพรรคพปชร.ต่อการดูดนี้ได้ พปชร.มีช่องที่จะอ้างได้ว่าการกระทำดังกล่าวที่มาเข้าร่วมพรรคพปชร.นั้นมาจากอุดมการณ์เดียวกันที่ต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็น นายกฯต่อไป สามารถนำมาใช้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องพลังดูด

ขณะเดียวกัน จากบทบาทโดยรวมขององค์กรอิสระซึ่งตั้งขึ้นมาโดยหวังว่าจะทำหน้าที่เป็นกลางตรวจสอบรัฐบาล ก็ไม่อาจคาดหวังได้ว่า กกต.จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ที่วิจารณ์รัฐบาลคสช. ก็ต้องโดนมาตรา 44 ของคสช.จนพ้นจาก ตำแหน่งกกต.ในที่สุด

ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่ากกต.จะไปกินดีหมีหรือใจกล้าถึงขนาดดำเนินการตรวจสอบพรรคพปชร.ที่มีเอี่ยวกับรัฐบาล เพราะตัวอย่างมีให้เห็นในกรณีของนายสมชัย

สถานการณ์ทางการเมืองไทยต่อจากนี้ไปจะดำเนินไปในลักษณะนี้จนถึงวันเลือกตั้ง พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลคสช.จะใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงแค่การดูดแต่หมายถึงการลงพื้นที่เดินสายหาเสียงด้วย ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์จะลงเล่นการเมืองต่อหรือไม่ แต่การเตรียมการต่างๆ ที่กล่าวมากระแสสังคมต่าง ก็รู้

ส่วนพรรคเก่าที่มีขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยก็จะถูกดูดและลดทอนลงเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ก็มีอดีตส.ส.บางรายถูกดูด ไปด้วย

พรรคที่จะถูกเตะตัดขามากที่สุดก็จะเป็นพรรคในปีกประชาธิปไตย ที่เห็นต่างกับคสช. ที่นอกจากจะโดนดูดแล้ว ยังถูกห้ามเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางการเมือง

ซึ่งก็แน่นอนว่าทำให้เกิดความเสียเปรียบ เพราะมีบางพรรคที่ดำเนินกิจกรรมได้ทุกอย่าง อย่างพรรคอนาคตใหม่ก็จะเห็นได้ว่าล่าสุด รองนายกฯอบต.ที่สนับสนุนก็ถูกเล่นงานกดดันจนต้องลาออก นี่จะเป็นปรากฏการณ์ที่เราจะได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันเลือกตั้ง

เมื่อสถานการณ์เดินไปในทางนี้ก็อาจทำให้สงสัยว่าการเลือกตั้งจะเชื่อถือเรื่องเสรีและเป็นธรรมได้หรือไม่ เชื่อว่ากระบวนการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจจะเกิดขึ้นแค่ก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น พอถึงการเลือกตั้งแล้วผลจะเป็นไปตามพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลคสช.ต้องการหรือไม่นั้น ไม่แน่ใจ

เพราะผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 บ่งชัดว่าประชาชนเลือกพรรคก็จริง แต่การว่างเว้นจากการเลือกตั้งไป 8 ปีก็ไม่อาจเดาใจประชาชนได้ว่าจะเลือกพรรคเหมือนเดิม หรือจะเลือกบุคคลที่ได้รับความนิยมคุ้นเคยในเขตที่ย้ายพรรคไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน