เรียบร้อยโรงเรียน คสช.อีก 1 เรื่องใหญ่ๆ

เมื่อที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ 179 เสียง เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่ ครม.เสนอตามพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 ในวาระ 2 และ 3

ร่างยุทธศาสตร์มีสาระสำคัญ 6 ด้าน ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง, ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม, ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ขั้นตอนต่อไปพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะนําร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 20 ปี

การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมมาตลอด เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ซึ่งอยู่ระหว่าง จัดทำ

จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า

คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 เคยได้ยินคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” แต่เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.9 ไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์ชาติ “คืออะไร”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยชี้แจงเหตุผลที่ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ก็เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ว่าใน 20 ปีข้างหน้า เราต้องการให้บ้านเมืองเป็นอย่างไร ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง

และเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลต้องเดินไปตามนั้น

อย่างไรก็ตามบรรดานักการเมือง พรรคการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย ล้วนแต่ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าว

มองว่าร่างยุทธศาสตร์ชาติเขียนขึ้นโดยคนไม่กี่คน พิจารณากันเอง เห็นชอบกันเอง ซึ่งก็คือ คสช.และคนในเครือข่าย

ก่อนหน้าร่างยุทธศาสตร์ชาติจะผ่าน สนช.กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกแถลงการณ์ “หยุดยุทธศาสตร์ คสช.” เรียกร้องให้สมาชิก สนช.ไม่ผ่านความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เพราะเกรงจะเป็นการสืบทอดอำนาจและนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง

ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจทำนโยบายนำเสนอประชาชนได้ ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ที่สำคัญการจัดทำร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน

ในส่วนพรรคการเมือง ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างถึงพริกถึงขิงก็คือพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ออกแนว “แทงกั๊ก” เหมือนเดิม

ในการเสวนาหัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทย ข้ามพ้นกับดักความหวัง” ในโอกาสครบรอบ 69 ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า

กับดักในปัจจุบันไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกับดักประเทศไทยที่ คสช.สร้างขึ้น เพื่อพยายามทำให้คนไทยรู้สึกว่าขาด คสช.ไม่ได้

“กับดักประเทศไทย คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐบาล องค์กรของรัฐ ต้องทำตามแผนนี้ หากไม่ทำก็จะถูกยื่นถอดถอนและมีความผิดทางอาญา หาก คสช.กลับมาเป็นรัฐบาลกับดักที่วางไว้ก็จะอยู่ต่อไปอีก 20 ปี”

สำหรับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ในการปลด กับดักประเทศไทย คือ ให้กำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็ว ระบุวันที่แน่นอน หลังกำหนดวันเลือกตั้ง คสช.ต้องไม่ใช้ ม.44

ก่อนเลือกตั้ง 3 เดือน นายกฯ และรัฐมนตรีทั้งหมดต้องลาออก ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทน ห้ามมีการแต่งตั้งโยกย้าย หรืออนุมัติงบประมาณ รวมถึงยกเลิก คำสั่ง คสช.ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

ทุกพรรคต้องมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนแก้ไขทั้งฉบับ และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมก็จะแก้ไขและยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนปฏิรูปประเทศ

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยเฟซบุ๊กไลฟ์ถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กล่าวช่วงหนึ่งว่า

คนเขียนแผนยุทธศาสตร์ อายุเฉลี่ยเกิน 63 ปีเป็นส่วนใหญ่ เป็นคนในวัยเกษียณ แต่มาเขียนทิศทางให้คนที่กำลังจะสุกสกาว

อีกทั้ง คสช.จัดความสำคัญอันดับหนึ่งไว้ที่เรื่องความมั่นคงของทหาร ซึ่งถ้าดูเนื้อหา หรือที่มา หรือแม้แต่กระบวนการที่ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน

นี่จึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นยุทธศาสตร์ คสช.

เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่ได้เขียนมาเพื่อถูกใช้ แต่เขียนมาเพื่อให้ถูกฉีก

ไม่มีทางที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ วิธีการเดียวที่จะพ้นไปจากทั้งกับดักยุทธศาสตร์ชาติ กับดักรัฐธรรมนูญ มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น คือการเลือกตั้งที่จะมาถึง

พรรคการเมืองที่ชมชอบและชื่นชอบประชาธิปไตยร่วมกันทุกพรรค จะต้องได้เสียงส.ส.ในสภา 376 เสียง ถึงจะเป็นก้าวแรกในการสร้างประชาธิปไตย

“ถามว่ายากไหม ยากแน่นอน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ส.มี 500 คน ส.ว.แต่งตั้งอีก 250 คน รวมคนที่มีอำนาจเลือก นายกฯ มี 750 คน

ถ้าจะทำให้เจตจำนงของประชาชนได้รับการตอบสนอง ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องชนะเสียงจาก 250 ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งด้วย

ดังนั้น วิธีการเดียวคือเราต้องรวมกันให้ได้เสียงส.ส.เกิน 376 เสียง จาก 500 คน ถือเป็น 3 ใน 4 ซึ่งเป็นเสียงที่มโหฬารมาก เป็นเสียงข้างมากแบบมากๆ รวมกันเพื่อบอกว่าเราไม่เอารัฐประหาร”

“ถึงจะได้ชัยชนะที่ขาดในเกมนี้ของ คสช.” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าว

ขณะที่นายธนาธรตั้งเป้าส.ส.พรรคฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยไว้มากถึง 376 เสียง

แต่ในฝ่ายพรรค คสช.กลับตั้งเป้าหมายการรวบรวมตัวเลขส.ส. ไว้ที่อย่างต่ำ 251 เสียง หรือเพียงแค่เกินกึ่งหนึ่งของสภา ผู้แทนราษฎร

กล่าวได้ว่า ถึงวันนี้พรรค คสช.ได้มองข้ามช็อตเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ไปยังแผนการไล่กวาดต้อนอดีตส.ส.เข้าสังกัดเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจระยะยาว 8-20 ปีแล้ว

สิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจน คือพฤติการณ์นักการเมืองใหญ่ “กลุ่มสามมิตร” นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ออกเดินสายทาบทามอดีตส.ส.จากพรรคต่างๆ

เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย โดยไม่สนเสียงครหา “ตกปลาในบ่อเพื่อน”

กระทั่งฉายาพรรค “พลังดูด”

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยไปยื่นร้องเรียนต่อประธาน กกต. และเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้ระงับการจดแจ้งตั้งพรรค พปชร. ด้วยข้อกล่าวหากระทำผิดรัฐธรรมนูญและพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

หากดูจากท่าทีบุคคลระดับคีย์แมนใน คสช. ไม่ว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ตาม ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องกลุ่มสามมิตร และพรรคพลังประชารัฐ

ก็น่าสงสัยว่า กกต.จะทำหน้าที่อย่างอิสระและตรงไปตรงมาได้มากน้อยขนาดไหน

พฤติการณ์อันโจ๋งครึ่มของพรรคพลังดูด จึงสะท้อนถึงการไขว่คว้าไปให้ถึงเป้าหมาย 250 เสียง โดยไม่เลือกวิธีใช้

เพราะ 250 เสียงที่ต้องการเป็น 250 เสียงที่สำคัญอย่างยิ่ง ต่อการปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ

3 สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการต่อท่ออำนาจ

ต้องไม่ปล่อยให้ใครมาขัดขวางได้อย่าง เด็ดขาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน