สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5 คน คือ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

โดยทั้ง 5 คน จะประชุมกันเองเพื่อเลือกประธานในวันที่ 31 ก.ค. จากนั้นประธาน สนช.จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่ต้องรอให้ครบ 7 คน เพราะตามร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. จำนวน 5 คนถือว่าครบองค์ประชุม สามารถทำหน้าที่ได้

ส่วนอีก 2 คนไม่ได้รับความเห็นชอบ คือ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด เนื่องจากคุณสมบัติอาจขัดรัฐธรรมนูญ และต้องสรรหาใหม่ให้เสร็จใน 90 วัน

มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้

1.โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

ส่วนตัวต้องสารภาพว่าไม่รู้จักกับว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คนเลย หรือต่อให้รู้จักก็คงไม่ขอวิจารณ์ในส่วนของตัวบุคคลหรือการทำงานของพวกท่าน

แต่ต้องให้โอกาสทั้ง 5 คนได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิสูจน์ฝีมือของตนเองเสียก่อน

สิ่งสำคัญคือการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะรู้ได้ต่อเมื่อทุกคนได้เริ่มลงมือทำแล้ว อย่างในสมัยตนซึ่งเป็น กกต.ชุดแรก มีเสียงบอกว่าทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่เป็นทีม แต่สุดท้ายเราก็ทำงานเป็นทีม แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ทำงานเป็นทีมได้

สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญเหมือนเช่นกรณีที่ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน ร่วมมือร่วมใจกันจนช่วย 13 ทีมหมูป่า อะคาเดมี ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ความสามารถและความเก่งมักจะขึ้นกับสภาพแวดล้อมและความรอบคอบในการตัดสินใจในช่วงเวลานั้นๆ

ส่วนใครเหมาะสมกับการนั่งเป็นประธาน กกต.ในครั้งนี้ ขอให้เป็นเรื่องของ กกต. ทั้ง 5 คนที่จะตัดสินใจลงคะแนนเลือกกันเอง

อย่างในสมัย กกต.ชุดของตนนั้น หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสภาแล้วก็เลือกประธาน โดยต่างคนต่างลงคะแนนลับ ไม่ต้องมีการปรึกษากันนอกรอบ ต่างคน ต่างตัดสินใจเลือกกันเอง

จึงอยากให้ กกต.ชุดนี้ตัดสินใจเลือกประธานกันเองด้วยความเป็นเอกเทศ ด้วยมโนสำนึกของแต่ละบุคคล ไม่อยากบอกว่าใครเหมาะสม เพราะจะกลายเป็นการ โน้มน้าวผ่านสื่อกันไป และเมื่อเลือกแล้วถือเป็นความรับผิดชอบของพวกท่าน

ในส่วนการสรรหา กกต.อีก 2 คนที่เหลือ ควรต้องสรรหาไปตามระบบ กฎเกณฑ์และตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เพราะไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่อาจจะทำให้เร็วขึ้น ทั้งในขั้นตอนของการรับสมัครหรือตรวจคุณสมบัติ ไปจนถึงการลงคะแนนโดยสมาชิก สนช.

ทุกฝ่ายอดทนรอหน่อย เพื่อให้การสรรหาเป็นไปตามระบบ เชื่อว่าดีที่สุด

ส่วนการสรรหา กกต.อีก 2 ท่านที่ล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของ กกต.ทั้ง 5 ท่านหรือไม่นั้น เห็นว่ามีหลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงกฎหมายแล้วว่าไม่กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยรวม เพียงแค่อย่าขาดประชุมเท่านั้น ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนความคาดหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่นั้น ตนมีความคาดหวังอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่าในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาการจัดเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกคนอยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น และเป็นไปตามโรดแม็ป คือช่วงเดือน ก.พ.2562

ดังนั้น คาดหวังว่า กกต.ชุดนี้จะทำตามเจตนารมณ์ของสังคมไทย ที่อยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม

พวกท่านจะต้องทำหน้าที่จัดเลือกตั้งโดยไม่เข้าข้างใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นของผู้มีอำนาจ สังคมอยากเห็นท่านซึ่งเป็นผู้รักษากติกาทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกชอบ ไม่เลือกชัง

ขอให้กำลังใจพวกท่านให้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ลุล่วงจนประสบความสำเร็จด้วยดี

2.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ภาพรวม 3 ใน 5 คือ นายปกรณ์ กับนายฉัตรไชย 2 ผู้พิพากษาตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และ นายอิทธิพร จากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ต่างเป็น ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทางกฎหมายเป็นอย่างดี ทั้ง 3 คนจึงน่าจะทำงานได้ดีในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย

ทว่าทั้ง 5 คนยังขาดผู้มีประสบการณ์ในการสังเกตการณ์และจัดการเลือกตั้ง จริงอยู่ทั้งหมดสามารถเรียนรู้การทำงานได้เมื่อลงมือปฏิบัติจริง แต่คงไม่มีใครอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญตามโรดแม็ปไม่เกินกลางปี 2562 เป็นการเรียนรู้ เพราะนี่คือการเลือกตั้งในรอบ 5 ปี ที่ห่างหายไป

กระบวนการจัดเลือกตั้งมีรายละเอียดเยอะมาก ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคทางกฎหมาย แต่หมายถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผ่านการเลือกตั้งด้วย

ไล่ตั้งแต่การรณรงค์กระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด ก่อนหน้าการเลือกตั้งก็ต้องออกหลักเกณฑ์ให้พรรคการเมืองจัดทำไพรมารีโหวตเพื่อคัดเลือกสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต ต้องเร่งทำความเข้าใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องมีเนื้อหาแตกต่างจากของเดิมค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแยกเบอร์ของผู้สมัครแต่ละเขตที่จะแตกต่างกันแม้ว่าจะอยู่พรรคเดียวกัน

การลงคะแนนจะเหลือเพียงใบสำหรับเลือกแบบแบ่งเขตเท่านั้น ตามการออกแบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เรียกว่า จัดสรรปันส่วนผสม พอมาถึงขั้นนับคะแนนที่มีความสลับซับซ้อนสูงกว่าที่ผ่านมา ก็ต้องอธิบายให้กระจ่างชัด อาจต้องมีการปัดเศษจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อตามการคำนวณของการเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่งจะส่งผลในการประกาศรับรองส.ส. กกต.ชุดใหม่จะต้องทำให้มีความกระจ่างชัด เพื่อให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งว่าบริสุทธิ์ยุติธรรม

ดังนั้น กระบวนการสรรหา กกต.อีก 2 คนที่เหลือจึงน่าจะคำนึงถึงบุคคลจากภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์ในแง่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดเลือกตั้ง โดยใช้มาตรการตามที่พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.เปิดช่องไว้ให้คณะกรรมการสรรหาทาบทามคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาสมัครก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการเกษียณ

แต่วิธีนี้จะเป็นดาบสองคม ในแง่การยอมรับ หากไปทาบบุคคลที่มีข้อครหาเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จะมีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง

สำหรับการเลือกประธาน กกต.เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญทางกฎหมาย เพราะงานด้านการส่งเสริมก็มีความสำคัญต่อการเลือกตั้งเช่นกัน แต่ต้องทำให้ได้รับการยอมรับจากกกต. อีก 2 คนที่จะได้รับการเห็นชอบตามมาภายหลังด้วยเช่นกัน

การเลือกตั้งครั้งสำคัญในรอบ 5 ปี แม้จะเกิดขึ้นภายใต้ กกต.ชุดใหม่ ที่สามารถเรียนรู้ได้ ก็สามารถเบาใจได้ครึ่งหนึ่งว่าจะบรรลุผลและมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากเจ้าหน้าที่และพนักงาน กกต.ที่ก่อตั้งมาแล้ว 20 ปี ถือว่ามีความเป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์ด้านนี้มาต่อเนื่องยาวนานสามารถร่วมมือกับ กกต.ชุดใหม่ได้

3.ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการ กกต.

คุณสมบัติที่กำหนดไว้ทั้ง 7 คนนั้น ไม่น่าเป็นห่วงทั้งประสบการณ์และอายุ คนที่มาจากสายศาล เป็นตุลาการก็มาทำงานด้านกฎหมาย ส่วนคนที่สรรหามาจากอาชีพต่างๆ ที่มีตำแหน่งระดับสูง 5 คนก็เชื่อว่ามีประสบการณ์แล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้ตรงตามคุณสมบัติ แต่งาน กกต.เป็นงานที่ละเอียด ต้องแม่นกฎหมาย ถ้าใครที่มีประสบการณ์ในการจัดเลือกตั้งน้อยก็อาจจะเหนื่อยมาก

แต่คิดว่าทั้ง 5 คนเมื่อสมัครเข้ามาแสดงว่ามีความสนใจที่จะเข้ามาบริหารจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ด้วยเวลาที่มีน้อยต้องเร่งรีบศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งรัฐธรรมนูญ, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

กฎหมายเหล่านี้เป็นการแยกออกมาจาก สิ่งที่เขาเคยมีประสบการณ์ในการทำงานมา เรียกว่าเหมือนเป็นนักเรียนใหม่ที่ต้องติวเข้มในเวลาที่จำกัด สอบตกไม่ได้ และงานพอใช้ก็ไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้ามีการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ ถือเป็นเรื่องท้าทายว่าจะทำได้หรือไม่

อีกอย่างคือการกำกับดูแลควบคุมพนักงาน กกต.ให้มีคุณภาพ และยังมีผู้ที่อาสามาเป็น ผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย ก็ต้องประสานงาน เพื่อให้การจัดเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ ถือเป็นงานที่ท้าทายเช่นกัน

ส่วนใครจะเป็นประธานกกต. คงเป็นเรื่องการเลือกกันภายใน แต่คงต้องเป็นคนที่สามารถบริหารจัดการบุคลากรได้ดี

เชื่อว่าหลายคนคงคาดหวังกับกกต.ชุดใหม่นี้กับการจัดเลือกตั้ง อยากให้มีความเป็นกลางสูง ไม่อยากให้เป็นอย่างที่เคยเป็นมาในทางที่เลวร้าย อยากให้เอาในส่วนที่ดีมาเป็นแบบอย่างมากกว่า

ส่วน 2 คนที่ยังเหลือก็ให้สรรหาในรูปแบบเดิม กรรมการสรรหาชุดเก่าก็จะเปิดรับสมัครใหม่ เมื่อได้ครบแล้วจะได้มาผนึกกำลังกับอีก 5 คน เป็น 7 คน

แต่ตอนนี้มี 5 คนก็ทำงานได้ เดิมก็มี 5 คนอยู่แล้ว แค่รัฐธรรมนูญกำหนดเพิ่มเป็น 7 คน

4.สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.อุบลราชธานี

เท่าที่ดูรายชื่อผู้ได้รับการสรรหา ประสบการณ์การทำงาน แตกต่างกัน หลายคนไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้ง และไม่เคยทำภารกิจอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้ง เลย ทำให้เห็นว่าประสบการณ์ของแต่ละคนยังไม่ตรงกับงาน

จึงยังไม่เชื่อมั่นในการทำงานของทั้ง 5 คน 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้บุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ตรงในงานด้านนี้ คงมาจากการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็น กกต.ที่ เรียกว่าคุณสมบัติขั้นเทพ ซึ่งคนที่จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่กำหนดมีจำนวนไม่มาก จึงทำให้บุคคลที่มีสเป๊กตรงกับคุณสมบัติไม่กล้าลงสมัคร เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับเลือกหรือไม่

สำหรับคนที่เหมาะเป็นประธาน กกต. เท่าที่ดูน่าจะเป็นผู้ที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะภารกิจกกต.จะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายด้วย ส่วนที่เหลือหากดูคุณสมบัติยังไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจ

ส่วนความคาดหวังที่มีต่อ กกต.ที่ได้มา 5 คน ในเบื้องต้นนั้น อย่างที่ทราบกันว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า กฎกติกา และกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก อีกทั้งที่มาและประสบการณ์ของทั้ง 5 คนก็ต่างกัน ประกอบกับภารกิจใหม่ที่กกต.ต้องเจอ เช่น รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เครือข่าย ในพื้นที่ต่างๆ เปลี่ยนไป เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน

ดังนั้น กกต.ต้องศึกษางานด้านต่างๆ ค่อนข้างมาก เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ หากไม่ศึกษา และไม่รู้จริงจะทำให้การทำงานยากลำบาก

ขณะที่ กกต.อีก 2 คนที่เหลือ คิดว่าการสรรหาเมื่อสองรอบที่ผ่านมาเป็นการเปิดกว้างให้เป็นการสรรหาก็ควรจะสรรหาต่อไป เชื่อว่าจะไม่กระทบการทำงานของ กกต. 5 คน

แต่ควรต้องรีบเร่งกระบวนการสรรหาเลย เพื่อที่จะได้ กกต. ครบทั้ง 7 คน อย่างรวดเร็ว

จะได้มีเวลาทำความเข้าใจในภารกิจ เพื่อที่การจัดการเลือกตั้ง ได้ราบรื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน