แท้จริงแล้ว การรุกคืบไปสู่การจัดประชุมร่วมระหว่าง”กลุ่มสามมิตร” กับ “นปช.” ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี อาจเป็นจังหวะ ก้าวใหญ่อีกจังหวะก้าวหนึ่งในทางการเมือง

เพราะในเมื่อ”กลุ่มสามมิตร”มี 200 ประสานเข้ากับ”นปช.”อีก500 นั่นหมายความว่าจะเกิดปรากฏการณ์ใหญ่

นั่นก็คือ คนกว่า 700 มาชุมนุมเพื่อการปรองดอง

หมายความว่า ทั้งๆที่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็น”พรรคการเมือง”จังหวะก้าวของ “กลุ่มสามมิตร”ก็หนักแน่น และน่ามั่นใจเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

เมื่อใดที่”กลุ่มสามมิตร”ผนวกตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งภายใน”พรรคพลังประชารัฐ” เมื่อนั้นก็เข้มแข็ง เกรียงไกร

กำราบ”พรรคเพื่อไทย”ได้อย่างง่ายดาย

ความจริงระยะห่างระหว่าง “กลุ่มสามมิตร” กับพรรคเพื่อไทยและกับนปช.ก็ไม่มากนัก อย่างน้อยรากฐานความเป็นมาก็เด่นชัด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทยอันเป็น”โคตร”ของพรรคเพื่อไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เคยเป็น”รัฐมนตรี”

นายภิรมย์ พลวิเศษ อาจเพิ่งเข้ามาในยุค”พรรคพลังประชาชน” แต่เมื่อแยกตัวภายหลังมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนพฤศจิกายน 2551

ก็ย่อมจะรู้เส้นสนกลในทั้งพรรคพลังประชาชนและแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย

รวมถึงการสูญเสียของนปช.ในปี 2553

ยิ่งเมื่อได้ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ไปเป็นองค์ประกอบสำคัญ ยิ่งทำให้จังหวะก้าวที่รุกไปยัง”นปช.”เพิ่มความเข้มข้น

เพียงแต่ว่าจะดึงมาได้ถึง 500 คนหรือไม่ เท่านั้น

บาทก้าวใหม่อันมาจาก”กลุ่มสามมิตร”จึงสะท้อนให้เห็นเป้าหมายและความต้องการอย่างเด่นชัด

ไม่เพียงแต่จะเจาะทะลวงเข้าไปยัง”พรรคเพื่อไทย”

หากแม้กระทั่ง “นปช.”อันถือได้ว่าเป็นแขนขาและแนวร่วมสำคัญของพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีเว้น

มิเช่นนั้น คงไม่เปิดตัว นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ออกมา

ตราบใดที่ “การศึกมิหน่ายเล่ห์” การรุกคืบเหล่านี้จะต้องเดินหน้าต่อไปแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน