คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงนามในคำสั่งคสช. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 ให้ยุบคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานภาครัฐ(คตร.) และให้มีผลในทันที

เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและควรแก่การติดตามว่าจะเกิดผลอะไรต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐและราชการ

เพราะการเกิดขึ้นของ คตร. ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการของความหวาดระแวง ว่าคนอื่น องค์กรอื่น หน่วยงานอื่นมีเจตนาที่จะ “ทุจริต” ตั้งแต่เริ่มต้น

จึงต้องมีองค์กรหรือกระบวนการที่จะมาตรวจสอบ กลั่นกรอง หรือสกัดกั้นเอาไว้แต่ต้นทาง

เพราะฐานความคิดเช่นนี้ จึงทำให้กระบวน การทำงานของ คตร. เน้นหนักไปในทาง “ขัดขวาง” มากกว่าสนับสนุนส่งเสริมให้การทำงานของภาครัฐและราชการเป็นไปอย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพ

เป็นกระบวนการกลับหัวกลับหาง เพราะเอา “การตรวจสอบ” และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบขึ้นมากำหนดการทำงานของฝ่ายวางนโยบายและผู้ปฏิบัติ

เปรียบเหมือนการเอาผู้สอบบัญชีมาสั่งการให้ฝ่ายบริหารว่าจะวางทิศทางการทำงาน หรือวางโครงสร้างระบบงานอย่างไร

แทนที่จะเป็นการติดตามตรวจสอบในภายหลัง ว่ากระบวนการทำงานนั้นทุจริต หรือผิดไปจากหลักเกณฑ์ที่ควรหรือไม่

เมื่อตั้งโจทย์ผิด ปัญหาก็ตามมา

ผลของการกลับหัวกลับหางกระบวนการทำงานเช่นนี้ ทำให้โครงการของรัฐจำนวนมากติดอยู่ที่ขั้นตอนการตรวจสอบของคตร.

ความพยายามที่จะแสดงถึงความเอาจริงเอาจังในการจัดการกับการทุจริต ที่ “ล้ำเส้น” ออกไป ส่งผลให้การผลักดันโครงการของรัฐล่าช้า หรือการปฏิบัติของหน่วยราชการเฉื่อยเนือย

ดังนั้น การยุบ คตร. ไปเพื่อผลักดันให้ “ประสิทธิภาพ” ของภาครัฐกระฉับกระเฉงหรือยกระดับขึ้น จึงเป็นเรื่องชอบแล้ว

ในขณะที่การเอาจริงเอาจังกับการป้องกันหรือปราบปรามทุจริตก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องลดมาตรฐานลง

เพียงแต่จะต้องจัดที่ทาง หรือจัดวางกระบวนการให้ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน