ภาษาและวาทกรรมของรัฐ ในการควบคุมความคิด : รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

ภาษาและวาทกรรมของรัฐ – เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิของโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (FB : Textbooks Foundation – มูลนิธิโครงการตำราฯ) เผยบทสัมภาษณ์ในหัวข้อสื่อสารมวลชนกับสิทธิมนุษยน จาก รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่สะท้อนมุมมองในด้านภาษาและวาทกรรมของรัฐในการควบคุมความคิด ของรัฐบาลชุดคสช.ในปัจจุบัน

ในการสร้างภาษา และวาทกรรม ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้นับตั้งแต่ช่วงที่ขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งมีคำที่มีการพูดอยู่อย่างเป็นประจำ อย่างคำว่า ‘คืนความสุข’ รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐได้ใช้เครื่องมือชุดใหม่สร้างภาษา สร้างถ้อยคำและวาทกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ในการควบคุมความคิด เซ็นเซอร์สื่อมวลชน เมื่อ คสช. ใช้คำแบบไหนออกมา ก็ให้สื่อมวลชนใช้ตาม สื่อมวลชนก็ใช้ตามเรื่อยๆ

เช่น คำว่า คืนความสุข ตั้งแต่วันแรกที่รัฐประหาร และมีเพลงมาให้ด้วย พร้อมกับให้เด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลยันเด็กโต ร้องประสานเสียง ทำดนตรี ยิงเข้าไปในสมอง ให้จดจำ

 

“ตอนนี้คำว่า คืนความสุข กลายเป็นคำล้อเลียนเสียดสีรัฐบาลทหาร เป็นมิติการสู้กลับที่เอาคำดังกล่าวมาตีความใหม่ ขณะที่รัฐศาสตร์เรียกว่า ‘ยึดอำนาจ รัฐประหาร’ แต่ คสช. จะบอกว่า เป็น ‘การควบคุมอำนาจ’ ฟังดูไม่ได้ไปยึดของใครมา เพราะถ้ายึดก็ยึดจากรัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือน ไม่ใช่เพียงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่เป็นรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ฉะนั้น เป็นการยึดอำนาจประชาชน จึงต้องสู้กันในเชิงวาทกรรม นอกจากนี้ รัฐบาล คสช. ได้สร้างคำใหม่ เมื่อควบคุมอำนาจแล้ว ความตั้งใจคือ จะคืนความสุขให้ ไม่ให้มีความแตกแยก มีความปรองดอง” รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าว

รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

รศ.ดร.อุบลรัตน์ เชื่อมโยงบทจากหนังสือ ‘1984 ของจอร์จ ออร์เวล’ นิยายแนวตรงข้ามสังคมอุดมคติ มาอธิบายรัฐบาลทหารพยายามจะที่บอกว่า การรัฐประหารคือสันติภาพ (coup is peace) ถ้าในศัพท์ทั่วไปของระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยจะบอกว่า 1 คนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงในการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลในนิยาย 1984 บอกว่าการเลือกตั้งเป็นทาส (election is slavery) การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการตกเป็นทาส

คำที่รัฐบาลในนิยาย 1984 ใช้ เป็นการล้อเลียนเสียดสี การสยบยอม ยินยอมต่ออำนาจ คือคำที่สังคมประชาธิปไตยมองว่า ทั้งสื่อและประชาชนน่าจะไม่ยินยอมง่ายๆ รัฐบาลใช้คำว่าการจงรักภักดีเป็นพลังที่แข็งแกร่ง หรือ loyalty is strength เรียกร้องให้ทุกคนจงรักภักดีกับรัฐ ตรงข้ามกับสังคมประชาธิปไตยแบบสากล ปรากฏว่า นายกฯ คสช. เคยพูดว่าประเทศไทยเป็นซุปเปอร์ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเกินร้อย ทั้งที่ ไม่มีเลือกตั้ง

หนังสือ ‘1984 ของจอร์จ ออร์เวล’ /The New York Times

“แทนที่วาทกรรมเหล่านี้ จะถูกโยนเข้ามาแล้วทำให้คนเชื่อง่ายๆ ปรากฏว่าคนฟัง ฟังซ้ำๆ ไปแล้วมีคำถาม ซึ่ง คสช. อาจจะไม่ทันได้คิดว่า ถ้อยคำเหล่านี้ไปสร้างคำถามในใจคนฟัง” รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าว

จากนั้นได้พูดถึงดัชนีชี้วัดเสรีภาพ ที่อันดับของประเทศไทยตกต่ำลงรั้งในอันดับล่างๆของอาเซียน รศ.ดร.อุบลรัตน์ระบุว่า ดัชนีชี้วัดสิทธิเสรีภาพที่หน่วยงานสากลทำ เช่น Reporters Without Borders (RSF) ของฝรั่งเศส หรือ Freedom House ของสหรัฐฯ ก็ประเมินตรวจสอบตั้งแต่ปี 2559 ว่า ประเทศไทยมีสื่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่เสรี ติดลบมา 4-5 ปีแล้ว

“ส่วนของ RSF เราติดอันดับท้าย ๆ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ตกไปที่ 153 จาก 170 ประเทศ ในปีที่เขาสำรวจเราได้อันดับที่ 153 เหลืออีก 10 กว่าอันดับก็บ๊วย ฟังดูสะท้อนใจ ปีต่อ ๆ มา ก็ไม่ดีขึ้นมากนัก แต่ไม่ดีขึ้นแบบนี้ เกิดจาก 2 อย่าง คือ 1 ใช้ภาษาและวาทกรรมทำให้คนเชื่อ และ 2 ก็คือว่า มีประเด็นสำคัญ การแสดงความคิดเห็นออกไปนั้น ถูกจับกุม ถูกคุมขัง ใช้กระบวนการยุติธรรมผ่านศาลทหาร ไม่ได้ผ่านศาลพลเรือน ก็มีมาก ไอลอว์ (iLaw) ได้เก็บสถิติ คดีเนื่องมาจากมาตรา 112 เพิ่มขึ้น ผนวกกับคดีเหล่านี้แสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเอสเอ็มเอส อย่างคดีอากง นี่เป็นข้อที่ทำให้องค์กรสากลด้านสื่อ ประเมินว่า สื่อไทยไม่เสรี ติดลบไปอยู่ตรงท้ายๆ ในกลุ่มอาเซียน อันดับของเราก็รั้งท้ายที่ 3 อยู่เป็นประจำในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ” รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าว

ภาษาและวาทกรรมของรัฐ

หน่วยงานด้านเสรีภาพสื่ออย่างฟรีดอมเฮ้าส์ (Freedom House) ชี้ว่าประเทศไทยสถานะที่ไม่มีเสรีภาพสื่อ (Not Free)/freedomhouse.org/report/freedom-world/2018/thailand

รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าวว่า เรื่องเสรีภาพ อิสรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนหวงแหนในระบอบประชาธิปไตย แต่คณะรัฐประหารสอนว่า สิ่งที่สำคัญกว่า คือจริยธรรม ศีลธรรม ไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพ ถ้าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อละเมิดคนอื่นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ใช้แล้วกระทบความมั่นคงก็ไม่ถูกต้อง ต้องมีศีลธรรม จรรยาบรรณ จึงจะเป็นเรื่องดีที่สุด

“สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นใน 3-4 ปีมานี้อย่างเข้มข้น บ่อยๆ ถือว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ จะแนบเนียนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคนฟัง ฟังแล้วจะไปคิดต่ออย่างไร หรือสื่อมวลชนฟังแล้วรักชอบ หรือเบื่อหน่ายขนาดไหน ถ้าเราจะดูได้ง่ายๆ ว่าปฏิกิริยาเป็นอย่างไร คือดูจาก การ์ตูนการเมือง อาจจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นหน้าต่างแห่งโอกาส ของเสรีภาพ กลายเป็นว่านักวาดการ์ตูนมีความสำคัญมาก ขณะที่สื่อวิทยุโทรทัศน์ค่อนข้างจะถูกควบคุมมาก ฉะนั้น เวทีที่จะเป็นตัววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ คือ พื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ การ์ตูนการเมือง”รศ.ดร.อุบลรัตน์ระบุ

รศ.ดร.อุบลรัตน์ยกตัวอย่าง ปรากฏการ์ตูน ไข่แมว ที่หายช่วงหนึ่งและกลับมา ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนที่ติดตามเป็นจำนวนมากอยู่พักหนึ่ง ซึ่งหลายคนเกรงว่าคนวาดจะถูกคุกคาม หรือมีอะไรที่เกิด ดังนั้นปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ชัดถึงการใช้ภาษาและวาทกรรมนี้ที่สร้างปฏิกิริยาให้กับผู้คน

นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาที่น่าสนใจในการใช้ภาษา และวาทกรรมโต้กลับรัฐบาล รศ.ดร.อุบลรัตน์ยกตัวอย่าง การชู 3 นิ้ว ที่เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านภาพยนตร์ ‘เดอะฮังเกอร์เกม'(The hunger games) เป็นการนำมาใส่ความหมายบริบทของไทย กรณี ‘พินอคคิโอ’ ที่มาจากนิทานเก่าแก่ กระทั่งตอนนี้มีกราฟฟิตี้ หรือการวาดศิลปะบนกำแพง ความหมายถ้อยคำปฏิกิริยาต่างๆ ซึ่งปรากฏขึ้นแทนการใช้ถ้อยคำบนเวทีที่ทำให้คนรู้สึกเดือดพลุ่งพล่าน ไปเป็นการยืนมองแล้วชื่นชมกับฝีแปรงศิลปะ แล้วยิ้มๆ รู้ว่ากำลังล้อใคร นี่คือการเปลี่ยนแนวการแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนึ่ง

“แต่เรายังพบไม่มากนักกับการใช้เพลงที่จะสื่อกลับไปถึงนายกฯ ที่ท่านแต่งมา 6 เพลง มีเจตนารมณ์สำคัญๆ ของท่าน ใส่มาทุกครั้งไป สำหรับการแสดงที่เป็นปฏิกิริยา ส่วนใหญ่ออกมาเป็นบทกวีเสียมากกว่า ไม่ค่อยออกมาจากศิลปินทางด้านเพลง หรือดนตรีในกระแสหลัก ซึ่งเขาจะไม่ค่อยแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ แต่มาในแนวของกวี อาจจะเป็นกวีใต้ดิน หรือเป็นดนตรีที่เป็นแนวร็อค เฮฟวี่เมทัล แต่มีแนวหนึ่งที่ทำแร็ป แต่แร็ปอาจจะในคนกลุ่มเล็กๆ ” รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าว

รศ.ดร.อุบลรัตน์อธิบายเพิ่มว่า การใช้วาทกรรม การใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่ ก็เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แม้ว่าเราจะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีมาตรา 112 ที่ทำให้คนส่วนใหญ่วิตกกังวล แต่คนที่รู้สึกกังวลว่าการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงออกนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องพูดได้ ต้องแสดงออกได้ จนเลยมาถึงปัจจุบัน คือการเรียกร้องของคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งแสดงทั้งในโซเชียลมีเดีย และเอาตัวมาปรากฏ

“เรื่องสิทธิเสรีภาพจึงไม่นิ่ง มีพลวัตรตลอด แล้วคนที่ตระหนักในสิทธิอันนี้ จะไม่ยอมง่ายๆ จะรู้สึกหวงแหน แล้วขอแสดงออกภายใต้เงื่อนไขเข้มงวดหรือไม่เข้มงวด ก็จะแสดงออก” รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน