บทบรรณาธิการ

ข่าวในแวดวงการศึกษาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปสองกรณี

ประเด็นแรกคือผลต่อเนื่องจากการรับน้องของนิสิตในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้รุ่นน้องที่เข้าร่วมกิจกรรม สำลักน้ำที่มีเชื้อโรค จนต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู จวนเจียน จะเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

ประเด็นต่อมาคือกรณีที่นักเรียนร้องเรียนว่าครูพละในโรงเรียนใช้แก้วกาแฟขว้างเข้าที่หน้า จนกระทั่งเส้นประสาทกระทบกระเทือน

และอาจจะต้องเข้าผ่าตัดใหญ่เพื่อแก้ไขอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อ และใบหน้า

ทั้งสองกรณีสะท้อน “วัฒนธรรมอำนาจ” ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาของไทยได้อย่างชัดเจน

ครูหรือรุ่นพี่คืออยู่ในฝ่ายที่มีอำนาจเหนือ ขณะที่ลูกศิษย์หรือรุ่นน้องเป็นฝ่ายที่อยู่ใต้อำนาจบังคับ

เมื่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นด้วยความไม่เท่าเทียมกัน และเสริมด้วยค่านิยม ที่ตอกย้ำกันมาว่า “ผู้น้อย” ต้องเป็นฝ่ายเชื่อฟังยอมตาม “ผู้ใหญ่”

แนวโน้มของการใช้อำนาจที่เป็นไปตาม ความชอบ ความเชื่อ หรืออารมณ์ของผู้มีอำนาจ ที่ข้ามเส้นความเหมาะควรความพอดี จึงเป็น สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือแม้แต่ในสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นไป

ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการตอกย้ำให้เห็นความเป็นจริงนี้ชัดเจนขึ้น

ถามว่าภายใต้วัฒนธรรมอำนาจที่ครอบคุมทุกส่วนของสังคมไทย ระบบการศึกษา จะผลิตพลเมืองแบบใดออกมา

ผลผลิตของระบบการศึกษาจะมีความสามารถ มีประสิทธิภาพมากพอที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วและรุนแรงขึ้นทุกวันหรือไม่

หากกรอบที่ครอบงำระบบการศึกษาอยู่ มิได้ส่งเสริมให้เกิดการคิด วิเคราะห์ การถกเถียง การค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ อันเป็นสิ่งที่อำนาจไม่สามารถสั่งหรือบังคับให้เกิดขึ้นได้

จากโรงเรียนและระบบการศึกษา คำถาม ข้างต้นนี้สามารถนำมาใช้ย้อนทบทวนตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมวงกว้างได้ด้วยเช่นกัน

ว่าวัฒนธรรมอำนาจกำลังสร้างหรือนำสังคมไทยไปสู่ทิศทางใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน