คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยเนื้อหาเบื้องต้นของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองต่างๆ ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้

พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา มีความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนี้

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยขอตั้งข้อสังเกต 1.รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดให้การจัดตั้งพรรคเป็นเสรีภาพของประชาชน ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองปี 2540 และ 2550 การตั้งพรรคแค่ 15 คนเข้าชื่อขอจดทะเบียนพรรคได้แล้ว แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดจำนวนคนที่จะจัดตั้งพรรคมากถึง 500 คน ประชาชนมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจริงหรือ

2.กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้จัดทำอุดมการณ์ของพรรค เสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง พร้อมกับการจัดทำนโยบายและข้อบังคับพรรค หากเป็นเช่นนี้ควรจะกำหนดเป็นบทนิยามไว้ในกฎหมายด้วยว่า อุดมการณ์ของพรรคนั้นหมายความอย่างไร เพราะจะเป็นปัญหาในการตีความของนายทะเบียน

3.ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ กำหนดว่าให้มีการเลือกตั้งส.ส.ภายใน 150 วันนับตั้งแต่ประกาศใช้พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งรวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ด้วย แต่ตามบทเฉพาะกาลกำหนดให้พรรคจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบถ้วน ภายใน 150 วันนับแต่กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ และบอกด้วยว่าถ้าทำไม่เสร็จจะส่งผู้สมัครมิได้

จึงน่าสงสัยว่าระยะเวลาการเลือกตั้งกับระยะเวลาที่เป็นหน้าที่ของพรรคที่บัญญัติไว้สอดคล้องกันหรือไม่ ดูแล้วเหมือนต้องการเวลา 150 วันเต็มๆ โดยการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นภายใน 150 วันตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และหากจะมีการตั้งพรรคใหม่ปัญหาคือเขาจะต้องปฏิบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้หรือไม่ หากปฏิบัติไม่ได้หรือไม่ทันจะมีสิทธิส่งผู้สมัครหรือไม่

4.การกำหนดให้เรียกเก็บค่าสมาชิกพรรค มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะอาจทำให้ดูเป็นเจ้าของ มีส่วนในพรรค แต่อาจทำให้จัดตั้งพรรคยากขึ้น ดังนั้น หากจะกำหนดให้เป็นสิทธิของพรรค ก็ควรกำหนดไว้ในข้อบังคับพรรคว่าอาจเรียกเก็บค่าสมาชิก ซึ่งยืดหยุ่นมากกว่า

5.ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีบทบัญญัติและเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคและการตัดสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคไว้หลายกรณี เช่น การไม่ดำเนินการกับผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง โดยกล่าวไว้กว้างๆ ว่ามีการกระทำที่อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีข้อเท็จจริงได้มากมายหลายกรณี หนักบ้างเบาบ้าง หรือการห้ามพรรค สนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ ราชการแผ่นดิน ก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน

การเขียนบทบัญญัติทำนองนี้บางกรณีก่อให้เกิดการตีความตามอำเภอใจ เช่น การตีความว่าการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ทั้งที่เป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยแท้

ที่ผ่านมากระบวนการใช้และตีความกฎหมายเป็นบ่อเกิดของวิกฤตชาติ จึงควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจน ป้องกันการใช้กฎหมายที่เขียนแบบกว้างๆ หว่านแห เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนในอดีต

6.มีบางกรณีน่าสงสัยว่าการกำหนดบทบัญญัติและโทษบางประการสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น การให้พรรคดำเนินกิจกรรมบางประเภท เช่น เสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เสนอแนวทางพัฒนาประเทศและการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมทางการเมือง

โดยกำหนดว่า ถ้าพรรคไม่ปฏิบัติตามในสิ่งเหล่านี้ ให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น ความจริงสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของพรรคอยู่แล้ว ทำอันนั้นบ้าง อันนี้บ้าง แต่การกำหนดโทษถึงขั้นยุบพรรค-ตัดสิทธิกรรมการบริหาร จึงไม่สมเหตุสมผล เกินกว่าเหตุ

7.ที่กล่าวกันว่ากฎหมายนี้ทำให้ตั้งพรรคได้ง่าย บริหารได้ง่าย และยุบพรรคยากกว่าเดิม แต่ความจริงนั้นตรงกันข้าม การตั้งพรรคยากกว่าเดิม เช่น ใช้คนถึง 500 คนเป็นการเริ่มแรก เสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 2,000 บาท ต้องเขียนอุดมการณ์ เขียนนโยบาย เขียนข้อบังคับ ที่สำคัญคือต้องหาสมาชิกให้ได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องหาสมาชิกถึง 20,000 คนในเวลา 4 ปีในสาขาที่มีการจดทะเบียน

มีการกำหนดเหตุของการยุบพรรคเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม บางเหตุเป็นนามธรรม ก่อให้เกิดการตีความได้อย่างกว้างขวาง บางเหตุเป็นเรื่องการบริหารงานโดยปกติของพรรค เหตุนี้จึงเห็นว่ากฎหมายพรรคการเมืองที่นำเสนอนั้นพรรคเล็กจะเกิดและอยู่ยาก พรรคใหญ่จะบริหารและอยู่ยาก มีโอกาสถูกยุบได้ตลอดเวลา

คำพูดที่ว่าพรรคมีความสำคัญเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับรัฐ เป็นสถาบันที่จะสร้างความยั่งยืนของประชาธิปไตย จึงน่าจะเป็นคำถามสำหรับสังคมไทยในขณะนี้

วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับข้อดีหรือข้อเด่นของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในส่วนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 คือคณะกรรมการบริหารพรรค มีหน้าที่ควบคุมและดูแลไม่ให้มีสมาชิกฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบและประกาศของกกต. หากกรรมการบริหารพรรคไม่ดำเนินการก็ต้องมีมติสั่งให้ยุติการกระทำได้ โดยกกต.มีอำนาจห้ามผู้บริหารพรรค ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในพรรคการเมืองเข้าดำเนินการใดๆ หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคเป็นเวลา 20 ปี

มาตรา 23 ห้ามกรรมการบริหารพรรคกระทำการใดๆ ให้คนอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกควบคุมครอบงำก้าวก่ายแทรกแซงหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของพรรค

มาตรา 29 ห้ามพรรคหรือผู้ใดเสนอให้สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือเงินหรือประโยชน์เพื่อจูงใจให้คนเป็นสมาชิกพรรค รวมถึงการที่บัญญัติให้ภายใน 1 ปี พรรคต้องมีสมาชิก 5,000 คน และภายใน 4 ปีต้องมีสมาชิก 20,000 คน จะทำให้พรรคมีความเข้มแข็ง และเป็นพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง

ส่วนข้อด้อย คือ สมาชิกพรรคต้องชำระค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกทุกปี ไม่น้อยกว่า 100 บาท หากไม่ชำระค่าสมาชิก 2 ปีติดต่อกันจะขาดจากสมาชิกภาพ ซึ่งความจริงการเมืองการปกครองของไทยยังมีการซื้อเสียงอยู่ในหลายพื้นที่ หมายความว่าคนไทยส่วนหนึ่งนอกจากไม่อยากเสียเงินให้พรรคแล้วยังอยากได้เงินจากพรรคด้วย และยอดเงิน 100 บาทสำหรับแรกเข้าเป็นสมาชิกพรรค ก็ไม่ใช่เงินเล็กน้อยในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และการที่ต้องชำระค่าเป็นสมาชิกทุกปี จึงเป็นการบ่อนทำลายหรือขัดขวางความเข้มแข็งหรือความมั่นคงของพรรคการเมือง

ที่สำคัญคือ การไม่ยอมให้มีการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เสียงข้างน้อยจะไม่มีทางไปต่อกรกับเสียงข้างมากได้ ซึ่งนอกจากจะขัดกับหลักประชาธิปไตยแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ เพราะสิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธถือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น การที่ กรธ.ระบุเรื่องที่ประชาชนออกมาชุมนุม ถือว่าผิดกฎหมายและผิดระบบพรรคนั้น เท่ากับไม่ยอมรับหรือไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยของโลก

ทั้งนี้ ทางออกที่ถูกต้องขอให้ สนช.ทบทวนข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไข เช่น ค่าสมาชิกพรรคแรกเข้าเป็น 20 หรือ 30 บาท ก็น่าจะพอเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการที่ประชาชนจะลงเงินสมทบให้กับพรรคถือเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับสูงมากแล้ว

ขอให้ สนช.ยืนยันหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อย ให้มีสิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพราะนั่นคือทางออกของเสียงข้างน้อยในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อ กรธ.ยกร่างยังยกร่างบางมาตราให้เห็นว่าให้ประชาชนยอมรับความเห็นต่าง กรธ.ก็ควรยอมรับความเห็นต่างเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย และพัฒนาพรรคการเมืองไทย อย่าออกกฎหมายเพื่อความสะใจ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาเตรียมที่จะเสนออยู่หลายประเด็น อาทิ เรื่องการเก็บเงินค่าสมาชิกในการเริ่มต้น คนละ 100-200 บาทนั้นไม่มีใครเห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา คือเปิดโอกาสให้เป็นนายทุนของพรรค จ่ายเงินแทนสมาชิกพรรค

อีกทั้งในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ควรคำนึงถึงการเข้ามีส่วนร่วมด้วยความสมัครใจมากกว่าจะเอาตัวเงินมาเป็นตัวตั้ง

อีกประเด็นหนึ่งคือ เงื่อนเวลา ที่กำหนดว่าพรรคที่มีอยู่แล้วจะต้องสะสางหนี้ภายในกี่วัน กรธ.จะต้องดูแลประสานกับ คสช.ด้วย เพราะยังมีประกาศห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมา โดยกำหนดว่าภายในกี่วัน แต่พรรคยังทำกิจกรรมการเมืองไม่ได้จะให้ทำอย่างไร ก็ต้องสอดคล้องกัน

ดังนั้น ต้องรู้จักหลักยืดหยุ่นกันหน่อย อย่าไปกำหนดตายตัวว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้

ประเด็นการตั้งชื่อพรรค การจะไปตั้งซ้ำซ้อนกันคงไม่ได้ แต่กรณีพรรคที่เคยถูกยุบในอดีต แล้ววันนี้ยังไม่มีใครนำชื่อนั้นไปตั้ง ก็ต้องมีสิทธิ์นำชื่อพรรคที่เคยถูกยุบไปแล้ว ถึงแม้จะไม่ถึง 20 ปี แต่นาน 8-10 ปีแล้วน่าจะเพียงพอ จึงอยากให้มองว่าในกรณีพรรคที่ถูกยุบไปนั้น ผู้กระทำผิด ผู้บริหารได้ถูกลงโทษไปหมดแล้วและพรรคเป็นนิติบุคคล ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ แต่กลับจะไปตอกหมุดให้เขามีความผิดซ้ำอีก ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นคนกระทำ ควรจะปล่อยเสรีสำหรับพรรคที่เคยถูกยุบไปแล้ว

เรื่องบทเฉพาะกาล ก็ปิดกั้นโอกาสของพรรคเล็กที่จะดำเนินการ เช่น ต้องหาสมาชิกให้ได้ตามที่กำหนด แถมต้องมีตัวเงินและกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจทำให้พรรคเล็กไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ อย่างนี้ไม่ใช่การส่งเสริมระบบพรรคแล้ว แต่นี่คือความพยายามสกัดกั้นไม่ให้เกิดพรรค ไม่ให้คนมารวมกลุ่มกันเพื่อสร้างพรรค

กรณีบทกำหนดโทษที่รุนแรงเกินไป ถือเป็นจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่ง เช่น เรื่องการจำคุก ยุบพรรค หรืออื่นๆ อีกหลายข้อนั้น ปกติก็มีประมวลกฎหมายอาญาที่ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าทำให้สอดคล้องกันก็โอเค แต่ตอนที่ กรธ.เริ่มเขียนก็บอกว่ากรณียุบพรรคจะต้องยุบยากคือ 2 ประเด็นเท่านั้น ได้แก่ ต้องเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย กับเรื่องความมั่นคงของชาติ ตรงนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ

แต่กลับเอาไปแฝงไว้ในรายละเอียดว่าตรงนั้นก็ยุบพรรค ตรงนี้ก็จำคุก ตรงนี้ก็ประหารชีวิต แล้วใครจะกล้ามาทำพรรคการเมือง ที่สำคัญจะถูกกลั่นแกล้งกันง่ายที่สุด

จึงอยากให้มองด้วยหัวใจที่เป็นกลาง หากต้องส่งเสริมระบบของพรรคจริงก็ควรรับฟังพรรคต่างๆ ที่เชิญมาในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ อย่าเอามาเป็นแค่องค์ประกอบหรือเป็นพนักพิงว่าได้เชิญพรรคการเมืองมาแล้ว เปิดให้แสดงความคิดเห็นแล้ว เหมือนที่ผ่านมา ไม่รับฟังอะไรเลย อย่าเอามาเป็นแค่พิธีกรรม เพราะมันไม่เกิดประโยชน์

สุดท้ายเวลาที่เขียนกฎหมายต้องคำนึงถึงผู้ใช้กฎหมายด้วย ว่าจะปฏิบัติกันได้ยากแค่ไหน จะทำให้เป็นการส่งเสริมหรือเหนี่ยวรั้งกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยกันแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน