FootNote : การต่อสู้ การเมือง ยุคคสช. เป็น “สามกั๊ก” ไม่ใช่ “สามก๊ก”

ไม่ว่ากลยุทธ์เข้าสู่สนามเลือกตั้งเพื่อเป็น”ฝ่ายค้าน”เสียงข้างมากจะมาจากสมองก้อนโตของใครภายในพรรคเพื่อไทย
ก็ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์นี้เริ่มแผลงฤทธิ์
อย่างน้อยบทวิเคราะห์ว่าด้วย”สามก๊ก”ทางการเมืองก็เกิดการพลิกผันและแปรเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ
เพราะพรรคเพื่อไทยออกมายืนดูอยู่บนภูเสียแล้ว
จึงแทนที่จะเป็น”สามก๊ก”อันเกิดขึ้นในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นของจีน กลับจะกลายเป็น “สามกั๊ก”
ส่งผลให้ “คสช.”อยู่ในอาการ”ตำบลกระสุนตก”
เมื่อทั้ง ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้รับการสถาปนาเป็นแคนดิเดต”นายกรัฐมนตรี”ขึ้นมา
แม้กระทั่ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เข้าข่าย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นดำรงอยู่ในสถานะแคนดิเดตนายกรัฐ มนตรีอยู่แล้วเพราะประกาศไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”
เท่ากับเป็นการดับเครื่องชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะเดียวกัน การปรากฏขึ้นของ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล หรือแม้กระทั่ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เริ่มมีความแจ่มชัดขึ้นในสถานะอันเป็นอีก 2 ตัวเลือก
หากไม่สามารถผลักดันหรือเข็นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าต่อไปได้
สภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้มากด้วยความละเอียดอ่อน
มีหรือที่คนอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่คิด มีหรือที่คนอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่คิด และมีหรือที่คนระดับ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จะมองไม่ออก
แคนดิเดตที่จะไปท้าชนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิได้มาจากพรรคเพื่อไทย
หากแต่น่าจะมาจากบรรดา”สามกั๊ก”เหล่านี้เอง

การเมืองไทยในห้วงก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งตามโรดแมปจึงไม่น่าจะเป็นการเมืองแบบ”สามก๊ก”
หากแต่น่าจะเป็น “สามกั๊ก” มากกว่า
แต่ละพรรคการเมืองจึงเดินกลยุทธ์ “แทงกั๊ก”และรอคอยโอกาสอย่างที่เรียกว่า “ส้มหล่น” จากความเพลี่ยงพล้ำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พลันที่มองเห็น”โอกาส”ก็ถึงคราเมื่อเอย ก็เมื่อนั้นทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน