การเมืองไทยไม่เคยนิ่งสงบ ยังคงมีประเด็นเคลื่อนไหวใหม่ๆ ให้ต้องติดตาม

เริ่มจากการที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) หรือ “พรรคเทพเทือก” ซึ่งก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้นำม็อบ กปปส.

ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อม็อบจนทำให้เกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่เมื่อ 5 ปีก่อน ปูทางสร้างเงื่อนไขให้ทหารคสช. เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

จัดประชุมผู้ร่วมก่อตั้งพรรค 500 คน เพื่อกำหนดชื่อ ชื่อย่อ เครื่องหมายพรรค คำประกาศอุดมการณ์ ข้อบังคับพรรค นโยบายพรรค โครงสร้างพรรคและข้อกำหนดพรรค

แต่ที่คอการเมืองให้ความสนใจมากสุด อยู่ตรงวาระการเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งผลออกมาผิดไปจากที่คาดเดากันไว้

สมาชิกลงมติเลือก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่า ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นคนเสนอชื่อ แทนที่จะเป็นนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ติดโผตัวเต็งมาตั้งแต่แรก

ในที่ประชุมวันนั้น “เทพเทือก-หม่อมเต่า” คู่หูการเมืองคู่ใหม่ ต่างแสดงความมั่นใจเต็มร้อยว่า หลังเลือกตั้งจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว จะต้องเป็นรัฐบาลผสม

และพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะได้ร่วมเป็นรัฐบาลแน่นอน นายสุเทพถึงกับพูดว่า “ถึงเวลานั้นให้เตรียมตัวรอรับขันหมากได้เลย”

ขณะที่หม่อมเต่า ถึงจะกล่าวแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ก็ตีความได้ชัดเจนว่า พร้อมนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

รวมถึงสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกสมัย

การก่อกำเนิดเป็นตัวเป็นตนของ “พรรคเทพเทือก”

ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชี้ว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้มีลักษณะเป็นการเมืองแบบ “สามก๊ก”

ก๊กแรก พรรคที่อิงอยู่กับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือมีแนวทางคล้ายคลึงกับนายทักษิณ

ก๊กที่สอง พรรคที่ตั้งขึ้นมาหรือแสดงท่าที่พร้อมสนับสนุนผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือผู้มีอำนาจในคสช. ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ส่วนก๊กที่สาม คือพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ ที่ยกตัวเองเป็นพรรค “ทางเลือก”

“เราต่อสู้กับระบอบทักษิณมาตลอด และยืนยันที่จะต่อสู้อยู่ ขณะเดียวกันเรามองว่าแนวทางของคสช.หรือรัฐบาลปัจจุบันหลายอย่างไม่สอดคล้องกับแนวคิดของเรา” นายอภิสิทธิ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การแบ่งสามก๊กการเมืองของนายอภิสิทธิ์ ค้านกับความเห็นของนักวิเคราะห์การเมือง นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่มองคล้ายกันว่า

การเมืองปัจจุบันแบ่งเป็น “สองขั้ว” เท่านั้น คือ ขั้วประชาธิปไตยกับขั้วไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือถ้าจะพูดกันด้วยภาษาแบบง่ายก็คือ ขั้วที่ไม่เอาคสช. กับ ขั้วที่เอาคสช.

ซึ่งหากดูจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา ไม่ต้องไปไกล แค่ใกล้ๆ เมื่อปี 2556-2557 ที่ไปร่วมขบวนม็อบนกหวีด ชัตดาวน์ประเทศ เปิดโอกาสให้มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน

พรรคประชาธิปัตย์น่าจะถูกจัดอยู่ในขั้วหลังมากกว่า

อย่างเมื่อครั้งที่นายอภิสิทธิ์ ออกมาไล่ตะเพิดว่า หากใครสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯคนนอก ก็ให้ไปพรรคอื่นไม่ต้องมาพรรคประชาธิปัตย์

ก็โดนพล.อ.ประยุทธ์ สวนกลับแรงๆ แบบคนรู้ไส้รู้พุงกันดีว่า ขอประชาชนก็ไปใคร่ครวญเอาเอง และดูด้วยวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไร

“ที่ออกมาพูด คอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไร ก็ไปคอยดูตรงโน้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที”

รวมถึง “หม่อมเต่า” หัวหน้าพรรคเทพเทือก ก็แย้มไว้แล้วว่า

หลังเลือกตั้งโอกาสจะได้ร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีอยู่ เพราะนายสุเทพออกมาจากพรรค ก็ไม่ได้โกรธกัน อีกทั้งลูกชายของตนก็ยังอยู่กับประชาธิปัตย์

การเมืองไม่ว่าจะแบ่งเป็นสองก๊ก หรือสามก๊ก พรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล พรรคใดจะเป็นฝ่ายค้าน เมื่อเวลาแห่งการหย่อนบัตรเลือกตั้งมาถึง ประชาชนเจ้าของประเทศ

จะเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้าย

ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยระบุกำหนดวันเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งตั้งเป็นตุ๊กตาไว้ 4 วัน คือ วันที่ 24 ก.พ., 31 มี.ค., 28 เม.ย. และสุดท้าย 5 พ.ค. เป็นอย่างช้า

ปรากฏว่า ล่าสุดโรดแม็ปที่วางไว้จนเกือบจะนิ่ง ก็เกิดความสับสนอลหม่านขึ้นอีก

หลังจากมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 36 คน ร่วมกันเข้าชื่อขอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ในประเด็นการคัดเลือก “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง”

เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่กกต.ชุดปัจจุบันซึ่งกำลังจะหมดอายุ ออกระเบียบคัดเลือกเองโดยไม่รอ กกต.ชุดใหม่ ถือเป็นเรื่องผิดมารยาทอย่างยิ่ง

ความเคลื่อนไหวของสนช. มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ขณะที่เจตนาอันแท้จริงยังเป็นที่น่าเคลือบแคลง ว่าเพราะต้องการให้ได้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่มีความเป็นกลางมาทำหน้าที่ ไม่ถูกฝ่ายการเมืองบางขั้วแทรกแซง มีความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกับ กกต. ชุดใหม่

หรือเพราะมีวาระแอบแฝง โยงใยถึงการได้มาซึ่งส.ว. ตลอดจนความต้องการสร้างเงื่อนไขใหม่เพื่อถ่วงเวลายืดโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป

ถึงสมาชิกสนช. และแกนนำรัฐบาล จะดาหน้ากันออกมาปฏิเสธ ว่าการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะไม่กระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้ง

“ที่ออกมาพูดกันมีกี่คน เลือกตั้งก็คือเลือกตั้ง เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ถึงวันไหนก็ทำกันวันนั้น เขากำหนดการออกมาแล้วไม่ใช่หรือ

ก็พูดกันอยู่ได้ว่าจะแก้ตรงนู้น จะแก้ตรงนั้น แล้วจะทำให้ทุกอย่างมันล่าช้า ใครทำ คนพูดคือใคร นักการเมือง ให้เขาพูดอยู่นั้นแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุ

กระนั้นก็ตาม ด้วยความที่ผ่านมาโรดแม็ปเลือกตั้ง เคยถูกทำให้ต้องเลื่อนออกไปหลายครั้งหลายหน มาครั้งนี้เมื่อจู่ๆ มีการสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา แล้วก็ออกมายืนยันว่าจะไม่กระทบต่อโรดแม็ป

หลายคนจึงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ การแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. อาจส่งผลให้การเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในช่วงก.พ.2562

ต้องขยับเลื่อนออกไป 9 เดือน

สําหรับเหตุผลสนับสนุนว่าโรดแม็ปเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนไปอีก

เพราะทันทีที่ร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. มีผลใช้บังคับราวกลางเดือนก.ย. จากนั้นกกต.จะสามารถดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งส.ว.ชุดแรก 250 คนได้ทันที โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีส่วนในกระบวนการตรงนี้

ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้งส.ส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน

หากสนช.ย้อนกลับไปแก้พ.ร.ป.กกต.ที่ตัวเองเพิ่งทำคลอดออกมาไม่นาน การเลือกตั้งส.ส.จะไม่มีทางทำได้ในเดือนก.พ.62 จะต้องถูกยืดไปถึงปลายปี 2562

เพราะขั้นตอนตั้งแต่การเริ่มไปจนจบกระบวนการทุกขั้นตอน คือกฎหมายมีผลใช้บังคับ กว่าจะได้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คน จะต้องยืดไปอีก 9 เดือน

แน่นอนว่า หากเป็นอย่างที่อดีตส.ส.ปชป.ดัก คอไว้ ถึงสนช.จะจุดชนวนสร้างเงื่อนไขขึ้น มาเอง โดยรัฐบาลคสช.ไม่ได้มี “ใบสั่ง” หรือร่วมรู้เห็น

แต่ด้วยความที่สนช.เป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย การกระทำใดๆ ย่อมกระทบไปถึงคสช.อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง จึงไม่แปลกที่ความพยายามขอแก้ไข พ.ร.ป.กกต.

จะถูกตีความว่า เป็นเพราะกลุ่มผู้กุมอำนาจต้องการลากยาวไม่จบไม่สิ้น

เสี่ยงต่อการเกิดกระแสตีกลับ ประชาชนเบื่อหน่าย จากที่เล่นบทพระเอกมา 3-4 ปี ต้องมาตายง่ายๆ ตอนจบ

เพราะถูก สนช.ที่รับบทผู้ช่วยพระเอก

เผลอทำปืนลั่นใส่ โป้งเดียวจอด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน