รัฐบาลเชิญชวนสวดมนต์ข้ามปี “แสงเทียนแห่งสยาม” ถวายเป็นพระราชกุศล “ในหลวงรัชกาลที่ 9” จัดที่สนามหลวง เริ่มตั้งแต่ 3 ทุ่มวันที่ 31 ธ.ค. ถึง 00.09 น. วันที่ 1 ม.ค.2560 แล้วร่วมกันจุดเทียนแห่งสยาม ขณะที่วัดต่างๆ ทั่วประเทศก็ร่วมจัดพร้อมกัน นายกฯ เผยพระราชกระแสรับสั่ง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ” ขอให้ทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนมีความสุขให้มากที่สุดในรัชกาลปัจจุบัน ให้สืบสานแนวทางของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่ได้ทรงทำมาตลอด 70 ปี น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ดำเนินมาเป็นวันที่ 62 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศล โดยช่วงเช้ามีหน่วยงานได้แก่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เวลา 07.00 น. พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นประธานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ จากนั้นถวายภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม 8 รูป จากวัด อนงคารามวรมหาวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่สวดพระอภิธรรมมาตั้งแต่ค่ำวันที่ 13 ธ.ค.

ส่วนการเข้ากราบถวายสักการะพระ บรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นั้น เจ้าหน้าที่เปิดให้ประชาชนเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ในเวลา 04.50 น. ก่อนเปลี่ยนเข้าทางประตูมณีนพรัตน์ ถนนหน้าพระลาน เวลา 08.30 น. เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูวิเศษไชยศรี

โดยประชาชนกลุ่มแรกที่เข้ากราบถวาย สักการะพระบรมศพ เป็นชาวเขาที่มูลนิธิโครงการหลวงนำมาจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวม 7 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ ปะหล่อง จีนยูนนาน ปกาเกอะญอ ลีซอ อาข่า และม้ง รวมทั้งสิ้น 1,741 คน โดยชาวเขาแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า พร้อมทั้งนำผลผลิตจากแปลงเกษตรที่ได้รับพันธุ์พืชพระราชทานมาทูลเกล้าฯ ถวายด้วย

นางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และท่องเที่ยว มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่าชาวเขาทุกคนปลาบปลื้มใจที่ได้มากราบถวายสักการะ ทุกคนนำผลิตผลของตนเองที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพันธุ์พืช อาทิ ข้าวดอย ข้าวก่ำ ข้าวใหม่ สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์ 80 อะโวคาโด จากดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มะเขือม่วง ดอกกุหลาบ จากศูนย์พัฒนาโครงหลวงทุ่งเรา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ งานหัตถกรรม ทั้งผ้าพันคอ กางเกง เสื้อผ้าจากเผ่ามูเซอ ชุดปะหล่อง รวมถึงพืชผักอื่นๆ กะหล่ำปลีหัวใจ กะหล่ำปลีหวาน ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวหยก โอ๊กลีฟเขียว โอ๊กลีฟแดง บัวหิมะ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลผลิตจากการ ส่งเสริมของโครงการหลวง เพื่อให้สํานักพระราชวังแจกจ่ายประชาชนที่มากราบถวาย สักการะพระบรมศพ

ขณะที่นายคำแดง ลายเฮิง อายุ 54 ปี ชาวเขาเผ่าปะหล่อง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เกษตรกรที่เลิกปลูกฝิ่นแล้วหันมาปลูกไม้ดอกไม้ผล จนมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่าเคยเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างใกล้ชิด 2 ครั้งที่ดอยอ่างขาง และดีใจมากที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูป พวกเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ชีวิตพวกเราคงลำบากกว่านี้ แต่ก่อนปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพ แต่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะผิดกฎหมาย พอในหลวงรัชกาลที่ 9 มาส่งเสริม และมีเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงมาแนะนำ ช่วงแรกปลูกบ๊วยและลูกพลัม ปัจจุบันปลูกผักอินทรีย์และชา

ส่วนนายนาโม หมันเฮิง อายุ 88 ปี ชาวเผ่าปะหล่อง จาก อ.ฝาง ในอดีตพร้อมด้วยเพื่อนบ้านอีก 8 ครอบครัว เคยเดินเท้าจากเขตปกครองไทยใหญ่ ประเทศเมียนมา เป็นเวลา 18 วัน 18 คืน มาอยู่ประเทศไทย กล่าวว่าแรกเริ่มมาประเทศไทยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ปลูกฝิ่นและข้าวโพดเลี้ยงชีพ กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาที่ดอยอ่างขาง จึงไปเฝ้าฯ รับเสด็จ หวังพึ่งพระบารมีภายใต้พระบรมโพธิสมภาร วันนั้นได้กราบแทบพระบาท ทูลขอมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ขอเป็นลูกเป็นหลานของพระองค์ กระทั่ง ได้เป็นคนไทยทุกวันนี้

พ่อเฒ่าชนเผ่าปะหล่องกล่าวต่อว่า ตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งถามมีใครมาบ้าง ก็กราบทูลรายงานว่ามีพระ ผู้สูงอายุ และเด็ก ด้วยพระเมตตาทรงรับพวกเราไว้ และมีพระบรมราชานุญาตให้อยู่ในพื้นที่บ้านนอแล หมู่ 14 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง พร้อมทั้งพระราช ทานเงิน 5,000 บาท สร้างศาลาวัด ด้วยความตื่นเต้นและดีใจจึงทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปที่อุ้มติดตัวมา หลังจากนั้นประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกผัก ผลไม้ ดอกกุหลาบ และชา ส่งผลผลิตให้โครงการหลวง มีเงินส่งเสียลูกหลานร่ำเรียนมีการศึกษาจบปริญญาตรีหมดทุกคน

ด้านนางจ๊ะ เลาจาง อายุ 50 ปี ชาวเผ่าม้ง กล่าวความรู้สึกเป็นภาษาม้ง โดยมี น.ส. สาวิตรี เลาจาง อายุ 33 ปี ลูกสาว แปลว่าสมัยอยู่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พวกเราไม่รู้จะทำอะไร จึงปลูกฝิ่นและทำไร่รับจ้างไปทั่ว ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มารับทราบปัญหา ทรงขอให้เลิกปลูกฝิ่น พระราชทานที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จากนั้นชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปลูกข้าวโพดหวาน ปลูกผัก แม้ไม่ร่ำรวยแต่พออยู่พอกิน ลูกหลานมีที่ดินทำกิน

“พ่อของฉันได้ผูกเชือกข้อพระกรพ่อหลวงกับแม่หลวง เมื่อปี 2520 ตามความเชื่อของ ชนเผ่าเรา เป็นการถวายพระพรทรงพระเจริญ ไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บ ภาพนี้จึงเป็นสิ่งมีค่าของครอบครัวเรา วันนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่บนฟ้าแล้ว พวกเราคิดถึงพระองค์มาก ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พวกเราตั้งใจทำมาหากินด้วยความพอเพียงตามที่ท่านรับสั่งไว้” นางจ๊ะกล่าว และจากนั้นชาวเขาทั้ง 7 ชนเผ่าเดินทางไปชมพระมหาพิชัยราชรถ ที่กรมศิลปากรเปิดให้เข้าชมด้วยภายในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และการจัดทำงบประมาณปี 2560 เพิ่มเติม ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ทรงรับสั่งกับรัฐบาลและรัฐมนตรีบางคนว่า ขอให้รัฐบาลทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนมีความสุขให้มากที่สุดในรัชกาลปัจจุบัน โดยใช้แนวทางของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่ได้ทรงทำมาตลอด 70 ปี พระองค์ทรงให้สืบสานต่อในสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เสื่อมถอย หรือน้อยลงไปกว่าเดิมที่มีอยู่

นายกฯ กล่าวว่าทรงรับสั่งด้วยความห่วงใยในสิ่งสำคัญหลักๆ คือเรื่องการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสาธารณสุข การเสริมสร้างอาชีพรายได้ และคุณภาพชีวิต สิ่งสำคัญจะต้องทำให้ประเทศชาติสงบสุข สันติ ไม่มีความขัดแย้ง ดังนั้น พวกเราทุกคนจะต้องสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ โดยใช้ศาสตร์พระราชาของพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปฏิบัติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นกับประชาชน และพวกเรารัฐบาลจะต้องสนองต่อสิ่งที่พระองค์ทรงรับสั่งไว้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แนวทางของยุทธศาสตร์ชาติที่จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ว่าการพัฒนาประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาคู่ขนานกัน ไม่ใช่พัฒนาโดยใช้แนวทางตะวันตกเพียงอย่างเดียว จะต้องใช้ของตะวันออกควบคู่ไปด้วย เพราะแบบตะวันตกอาจทำให้ทุกอย่างพัฒนาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อาจจะไม่ยั่งยืน จนเกิดผลกระทบและความเสี่ยงต่างๆ การพัฒนาแบบตะวันออกอาจจะช้า แต่มั่นคงมากกว่า หากสร้างความเข้มแข็งระดับฐานรากได้ก็จะเติบโตไปอย่างมั่นคง เราจึงจำเป็นต้องใช้ศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารประเทศตะวันตกและตะวันออกคู่ขนานไปด้วยกัน

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พยายามขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาไปยังประเทศอื่นด้วย เพราะจะทำให้เกิดความยั่งยืนกับทุกประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ใช่แค่ไทย โดยมี 28 ประเทศนำไปใช้แล้วได้ผล และยินดีกับประเทศไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เราอยู่กับพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มา 70 ปี ซึมซับแนวทางมาตลอด” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลจะจัดกิจกรรมแสงเทียนแห่งสยาม ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทยต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ พุทธศักราช 2560 ที่บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยจะสวดมนต์ตั้งแต่เวลา 21.00 น. วันที่ 31 ธ.ค.2559 จนถึงเวลา 00.09 น. วันที่ 1 ม.ค.2560 และจะจุดเทียนแห่งสยาม ขณะเดียวกันในต่างจังหวัดจะสวดมนต์ภายในวัดและตามสถานที่ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ด้วย

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช 500 ภาพ แก่ประชาชนที่ถวายสักการะพระบรมศพ ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช 500 ภาพ แก่ประชาชนที่ถวายสักการะพระบรมศพ ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน