ถึงวันนี้กำหนดวันและเดือนของการเลือกตั้งเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยยังไม่ประกาศออกมาชัดเจน เพราะคณะผู้ทำหน้าที่ด้านกฎหมายที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชนยังวุ่นวายอยู่กับกฎข้อบังคับที่หวังจะได้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับการเลือกตั้ง

อาจลืมหรือไม่เคยคิดว่าถ้ามุ่งมั่นจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มี มีแต่ต้องพยายามเปิดหนทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตัดสินใจเอง

ระหว่างการรอคอยของประชาชนที่มีเสียงปลอบใจมาตลอดว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป ทุกอย่างที่กล่าวอ้างมานั้นสะดุดอยู่เป็นระยะ

แม้แต่การปลดล็อกพรรคการเมืองก็ยังอยู่ในช่วงเงื้อง่าและมีเงื่อนไข

ทั้งที่เป็นเรื่องสามัญอย่างยิ่งว่า หากคิดจะสร้างบรรยากาศเสมอภาค เปิดเผยตรงไปตรงมา สมาชิกพรรคการเมืองต้องมีสิทธิประชุมพบปะประชาชนเพื่อนำเสนอนโยบายได้เท่าบุคคลในรัฐบาลที่คิดจะลงสู่สนามเลือกตั้ง

เมื่อการปลดล็อกไม่มี ผู้ที่ต้องการนำเสนอตนเองให้ประชาชนเลือกหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจึงเน้นไปที่การลงพื้นที่พบปะประชาชน

บางกลุ่มเลี่ยงที่จะถูกตรวจสอบ ด้วยการประกาศตนเป็นเพียงกลุ่มบุคคล ไม่ใช่พรรคการเมือง เพื่อจะไม่เข้าข่ายที่จะถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรวจสอบว่ากระทำผิดกฎหมายหรือไม่

ยิ่งเมื่อแถลงเป้าหมายว่า ต้องการฟังปัญหาของประชาชนฐานรากเพื่อนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ไปถึงรัฐบาลให้ช่วยดำเนินการแก้ไขเท่านั้น

อีกทั้งยังช่วยรัฐบาลสำรวจได้ด้วยว่าประชาชนชื่นชอบโครงการใดของรัฐบาลบ้าง ไปจนถึงการรับปากชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ว่าจะเสนอให้รัฐบาลขึ้นเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน และแพทย์ประจำตำบล เป็นต้น

หากความหวังดีของกลุ่มบุคคลลักษณะ ดังกล่าวไม่ถูกตีความว่า ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง คำถามที่จะตามมาคือ เหตุใดกลุ่มบุคคลที่เป็นนักศึกษาและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและคสช.จึงถูกจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหว

เรื่องที่รัฐบาลควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งคือการทำให้เกิดความรู้สึกว่า เนื้อหาที่กลุ่มบุคคลใดนำเสนอแล้วเป็นแง่มุมด้านดีกับรัฐบาล จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เนื้อหาที่เห็นแตกต่างหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

ยิ่งเมื่อรัฐบาลต้องการฟังหรือให้เกิดแต่เรื่องดีๆ กับตนเอง เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนก.ค.2561 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 82.2 ดีและสูงที่สุดในรอบ 62 เดือน

สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้ไม่ได้ยินเสียงจริงๆ ของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน