สถานการณ์การเมืองคลายปมเขม็งเกลียว

มาถึงจุดที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สลัดมาดเข้มๆ กระโดดขึ้นเวทีคว้าไมค์โชว์ลูกคอ 3 เพลงรวด เรียกเสียงกรี๊ดจากสื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาล

ปลดปล่อยอารมณ์ครื้นเครงหลังเสร็จจากนำทีม 6 รองนายกฯ เปิดแถลงข่าวโชว์ผลงานครบรอบ 2 ปี

ภายใต้เนื้อหาสาระขนาดความยาว 4 ชั่วโมงครึ่ง

สรุปว่าประเทศไทยหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

รัฐบาลคสช.สามารถคืนรอยยิ้มให้คนไทย จากประเทศที่เคยมีแต่ความขัดแย้งสับสนวุ่นวายมานานกว่า 10 ปี พลิกกลับมาเป็นประเทศที่มีความสุขในระยะเวลาแค่ 2 ปี

คุยว่าเป็นการสะท้อนผลการทำงานของรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ มีผลสัมฤทธิ์ปรากฏ

ทำให้มุมมองและการประเมินที่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ มีต่อประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นน่าพอใจทุกด้าน ทั้งเสถียรภาพความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

แล้วก็ไม่ได้แถลงแค่ลอยๆ ยังหยิบยกตัวเลขจัดอันดับที่หลายคนไม่เคยรู้มาเปิดเผย

อย่างเช่นผลประเมินความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองดีขึ้นจากอันดับ 58 ในปี 2557 มาอยู่อันดับ 51 ในปี 2559

ความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐจากอันดับ 57 เมื่อปี 2557 ขยับพรวดมาอยู่อันดับ 25 ในปี 2559

และที่ดูเหมือนคนแถลงภาคภูมิใจเป็นพิเศษคือผลจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นจากเกือบ 180 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ปี 2556-2558 ประเทศไทยดีขึ้นทุกปี ในปี 2556 อยู่อันดับที่ 102

พอรัฐบาลชุดนี้เข้ามาจนถึงปัจจุบันขยับขึ้น 26 อันดับไปอยู่อันดับที่ 76

สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศประเมินสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยว่าดีสุดในรอบ 6 ปี มีความโปร่งใสดีสุดในรอบ 10 ปี

ตัดตอนมาเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น พล.อ. ประยุทธ์เปรียบเทียบให้เห็นภาพกัน ชัดๆ ระหว่างรัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากรัฐประหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในอดีต

ใครมีภาพที่ได้การยอมรับทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมากกว่ากัน

เป็นไปตามที่หลายคนวิเคราะห์วิจารณ์

ผลการลงประชามติ “ผ่าน”ร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลคสช.โดยเฉพาะตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสถานะไม่ต่างจาก “เสือติดปีก”

เป็นตัวสลายแรงกดดันที่รัฐบาลคสช.ได้รับตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหายเป็นปลิดทิ้ง

ทั้งยังเป็นตัวช่วยแก้โจทย์ปัญหายากๆ ทางการเมืองได้อีกต่างหาก

ผลประชามติไม่ได้ทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งที่จัดวางโปรแกรมไว้ปลายปีหน้าต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าใน ทางดีหรือในทางร้าย

แต่ฝ่ายได้รับผลทางร้ายแน่ๆ คือบรรดาพรรคการเมืองน้อยใหญ่ ต้องตกเป็นฝ่ายถูกรุกไล่ทั้งจากผู้กุมอำนาจตัวจริงและจากกลุ่มนักห้อยโหนที่แฝงตัวอยู่ในแม่น้ำ 3-4 สาย

เหล่านี้สะท้อนจากความพยายามบิดเบือนบางอย่างเกี่ยวกับคำถามพ่วง

ตลอดจนเนื้อหาสาระกฎหมายลูกเกี่ยวกับการ เลือกตั้ง 4 ฉบับ ที่คณะกรรมการร่างหรือกรธ.อยู่ระหว่างระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนลงมือเขียน

และกำลังฝุ่นตลบในเวลานี้ คือการเสนอความเห็นของบรรดานักห้อยโหน อันมีเป้าหมายอยู่ที่การปิดล็อกพรรคการเมือง ไม่ให้ได้ผุดได้เกิดหลังเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ก็ถูกตัดกำลังจนอ่อนปวกเปียก ไม่อยู่ในสภาพต่อกรใดๆ ได้

พรรคประชาธิปัตย์ประสบปัญหาแตกแยกภายในอย่างหนักหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “แทงหวย” ประชามติผิดจังๆ จนเก้าอี้หัวหน้าพรรคของตัวเอง สั่นสะเทือน

ลำพังปัญหาภายในแทบเอาตัวไม่รอด ปัญหา ภายนอกจึงต้องพักไว้ก่อน อย่างมากแค่หาจังหวะ ออกมาให้สัมภาษณ์ทักท้วงพอเป็นพิธี ไม่กล้าดับ เครื่องชนแรงๆ

ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่ต้องพูดถึง อดีตส.ส.และ แกนนำโดนไล่เช็กบิลทีละคนสองคน หนักสุดถูกดำเนินคดีถึงขั้นติดคุกติดตะราง เบาหน่อยก็โดนถอดถอน ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต

ที่ต้องจับตาคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเข้าสู่ช่วงไฮไลต์สำคัญในประเด็นยึดทรัพย์

ไม่รู้ว่ากว่าจะถึงเลือกตั้งปลายปีหน้า พรรคเพื่อไทยจะเหลือผู้สมัครระดับแกนนำสักกี่คน

ภายใต้ความอ่อนแอของพรรคการเมืองต้องดูว่าใครเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

กล่าวกันว่าสาเหตุที่มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งยกเลิกการใช้ศาลทหารกับประชาชนพลเรือน

นอกจากเป็นการลดแรงกดดันจากนานาชาติและประชาคมโลก ในระหว่างที่ท่านผู้นำมีคิวไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ

เหตุหนึ่งยังเป็นเพราะเล็งเห็นแล้วว่าจากสภาพการเมืองภายในตอนนี้ รัฐบาลคสช.ควบคุมสถานการณ์ไว้ในมือได้ทุกจุด

ถึงก่อนหน้าประชามติจะมีความเคลื่อนไหวจากหลายกลุ่มเห็นต่างทั้งนักศึกษา นักวิชาการ อาจารย์มหา?ลัย กลุ่มองค์กรประชาธิปไตย ฯลฯ แต่เมื่อผลออกมากลุ่มต่างๆ เหล่านี้ก็ยอมรับ

หยุดเคลื่อนไหวเป็นการชั่วคราว

ถึงยังมีสถานการณ์ภาคต่อเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูก แต่ประเด็นส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ได้เสียของนักการเมืองและพรรคการเมืองโดยตรงที่ต้องไปหาทางต่อสู้ฟาดฟันกันเอง

ซึ่งก็อย่างที่เห็นว่าสภาพแต่ละพรรคตอนนี้ไม่เหลือเรี่ยวแรงจะต่อสู้ต้านทานกับกระแส“ขาขึ้น”ของผู้มีอำนาจ

ยกเว้นเสียแต่ว่าในกลุ่มสมาชิกแม่น้ำ 5 สายจะเกิดอาการ“สะดุดขา”กันเอง ซึ่งก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ล่าสุดเริ่มมีเค้าลางให้เห็นจากกระแสข่าวปรับครม.

โดยเฉพาะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่แบ่งออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับทีมเศรษฐกิจคสช.นำโดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

ข่าวแจ้งว่าทั้ง 2 ทีมกำลัง “ซดเกาเหลา” ชามโต

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการแถลงผลงานรอบ 2 ปี รัฐบาลได้ชูผลงานด้านความ มั่นคงและการปราบคอร์รัปชั่นเป็นพระเอก ขณะที่ผลงานด้านเศรษฐกิจมีฐานะแค่ตัวประกอบ

การบริหารงานด้านเศรษฐกิจมีความแตกต่างจากการบริหารด้านความมั่นคง ด้านการเมืองและด้านปราบคอร์รัปชั่น

เพราะไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีการหรือการตัดสินใจแบบทหาร

2 ปีที่ผ่านมาก็ให้ผ่านไป สิ่งสำคัญอยู่ตรงอีก 1 ปีเศษก่อนถึงการเลือกตั้ง รัฐบาลคสช.จะผลักดันผลงานด้านเศรษฐกิจให้กลับมานำผลงานด้านการเมืองและความมั่นคงได้ หรือไม่

การ”ต่อท่อ”ออกไปโดยให้ประชาชนยอมรับ เมื่อรัฐบาลคสช.ผ่านด่านสำคัญอย่างการลงประชามติมาได้

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจถือเป็น”โจทย์หิน” ข้อต่อไปที่สำคัญที่สุด

ไม่ว่าหยิบยกตัวเลขหรือศัพท์แสงหรูๆ อะไรขึ้นมาโชว์ก็ตาม

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่สำนักโพล แต่เป็นประชาชนโดยเฉพาะชาว รากหญ้าและชาวมนุษย์เงินเดือนต่างหากคือผู้รู้ดีที่สุด

สภาพเศรษฐกิจ”ของจริง”ตอนนี้เป็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน