เป็นสัปดาห์แห่งฤกษ์งามยามดี

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นำ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายปกรณ์ มหรรณพ เข้าทำพิธีรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกกต. และกกต.ใหม่ รวม 5 คน

ตามเนื้อความเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

จากนั้นได้เข้าพบปะหารือและรับมอบงานจาก กกต.ชุดเก่าที่มี นายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน

ซึ่งหลักๆ น่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามโรดแม็ปที่รัฐบาลคสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เคยประกาศไว้

ทั้งนี้ การจัดการเลือกตั้งส.ส.ต้องยึดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

ซึ่งจะครบกำหนดประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณกลางเดือนก.ย.2561 และจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 90 วัน จากนั้นถึงจะเริ่มนับกรอบเลือกตั้งภายใน 150 วัน

ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ระบุถึงการเลือกตั้ง ว่าจะมีขึ้นภายในปี 2562 ระหว่างเดือนก.พ.ไปจนถึงเดือนพ.ค. ส่วนจะเป็นวันใดนั้น กกต.จะเป็นผู้กำหนด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น

การเข้าสู่กระบวนการให้ได้มาซึ่งส.ว. จำนวน 250 คนตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กกต.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้งส.ส.อย่างน้อย 15 วัน

ยังมีเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ นายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานกกต. เคยแนะแนวทางไว้ว่า

หากจะให้พรรคการเมืองมีเวลาเพียงพอในการทำไพรมารีโหวต หรือการเลือกตั้งเบื้องต้น ในการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้งส.ส.

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ควรเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 เปิดทางให้กกต.จัดการแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนได้

ไม่รู้ผู้มีอำนาจจะว่าอย่างไร

อย่างไรก็ตามปมปัญหาที่คลี่คลายฉับพลันหลัง กกต.ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ ก็คือการที่ 36 สนช.ผู้เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. เกี่ยวกับประเด็นคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ยกธงขาว ยอมถอนร่างแก้ไข

เลิกดันทุรังฝืนกระแสต้าน กับเสียงครหามีเจตนาเตะถ่วงเลือกตั้ง ปูทางลากยาวอำนาจจนเกิดกระแสดีดกลับ ทำให้รัฐบาลคสช.ถูกหาว่าอยู่เบื้องหลังออกใบสั่ง เสียหายไปด้วย

กับบัญชีรายชื่อ 616 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มรดกกกต.ชุดเก่า ถึงแม้ 36 สนช.จะยอมถอนร่างแก้ไขเพื่อ “โละทิ้ง” ก็ยังต้องตามต่อว่า จะปล่อยให้เป็นหน้าที่กกต.ใหม่พิจารณาคัดกรองอีกครั้ง ว่าจะเอาใคร ไม่เอาใคร

หรือจะมีการใช้อำนาจพิเศษล้างไพ่ใหม่หมด

นอกจากบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแม็ป อีกบทพิสูจน์หนึ่งที่จะเป็นตัวชี้ว่า กกต.ชุดใหม่ มีความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และเป็นอิสระไม่ขึ้นต่ออำนาจอิทธิพลทางการเมืองใดๆ หรือไม่

ก็คือกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร

ที่หลายฝ่ายเริ่มออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อว่า ถึงกลุ่มสามมิตรยังไม่ใช่พรรคการเมือง การเดินสายลงพื้นที่หลายจังหวัด เพื่อชักชวนอดีตส.ส.เข้า ร่วมกลุ่ม

จึงไม่เข้าข่ายแหกคำสั่งข้อห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง อย่างที่มีผู้ใหญ่คนหนึ่งในคสช. ใช้เป็นข้ออ้าง เปิดไฟเขียวกลุ่มสามมิตรเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

ถึงอย่างนั้นการเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็เข้าข่ายความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป

ซึ่งเป็นคำสั่งเดียวกันที่ใช้สยบกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่ากลุ่มนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักการเมือง ไปจนถึงกลุ่ม ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

กรณีของกลุ่มสามมิตร จึงทำให้หลายคนได้รู้ความหมายของคำว่า”สองมาตรฐาน”อย่างถึงแก่นอีกครั้ง

แม้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แกนนำคสช. จะให้สัมภาษณ์ขู่ว่า หากกลุ่มสามมิตรเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน คสช.ก็จะต้องดำเนินการเอาผิด

แต่ก็ถูกมองว่า คสช.กำลังเล่นบทตบ-จูบกับกลุ่มสามมิตร เพราะก่อนหน้านี้พี่ใหญ่คสช. ออกมา เปิดไฟเขียวไว้ก่อนแล้วว่า ไม่ผิด เพราะไม่ใช่พรรคการเมือง

ส่งผลให้แกนนำกลุ่มสามมิตรบางคนย่ามใจ ถึงกับกล่าวท้าทายให้นักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปมสองมาตรฐาน ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อมาเดินสายแข่งกับกลุ่มสามมิตร

เท่าที่สังเกตระยะหลังแกนนำกลุ่ม พยายามที่จะอ้างว่าการเดินสายไปตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ก็เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นำมาสรุปเป็นแนวทางแก้ไขส่งต่อไปยังรัฐบาล

ไม่เกี่ยวข้องกับการดูดอดีตส.ส. หาเสียงตุนคะแนนล่วงหน้า รอสวมรอยพรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช.แต่อย่างใด

อาการตะแบงของกลุ่มสามมิตร ทำให้อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต้องออกมา “จับโกหก”กันแบบซึ่งหน้า ระบุถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่ม ที่เคยพูดไว้เป็นข่าวผ่านสื่อว่า

การตัดสินใจรวบรวมอดีตส.ส.เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะอยากสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ต่อไป

เพราะที่ผ่านมาได้มีโอกาสหารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม มาโดยตลอด

ถึงแนวทางและนโยบายที่จะให้เห็นถึงความตั้งใจของพล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจจะช่วย เพราะเชื่อในความสามารถ และมั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเพียงพอจัดตั้งรัฐบาล

ล่าสุดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ยังให้สัมภาษณ์คุยโวว่า จากการสำรวจพบว่าพรรคพลังประชารัฐ กำลังทำคะแนนนิยมไล่บี้พรรคเพื่อไทยมาติดๆ และมีโอกาสจะแซงหน้า หากได้เดินสายไปทั่วประเทศ

โดยเปรียบอดีตส.ส.ที่ย้ายพรรคมาว่าเป็นดาวฤกษ์ มีแสงสว่างในตัวเอง ส่วนอดีตส.ส. ที่ไม่กล้าย้ายพรรคเป็นเพียงดาวเคราะห์ ที่ต้องพึ่งแสงสว่างจากคนอื่น

การที่คนพรรคประชาธิปัตย์ออกมาจับโกหกกลุ่มสามมิตร ว่าแท้จริงก็คือเนื้อเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ

ด้านหนึ่งเป็นตัวชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังวางตัวเป็นขั้วการเมืองทางเลือกที่ 3 ไม่เอาทั้งประยุทธ์ ไม่เอาทั้งทักษิณ

พรรคประชาธิปัตย์ยังพยายามวาดภาพให้เห็นว่า กลุ่มสามมิตรก็คือพรรคพลังประชารัฐ และพรรคพลังประชารัฐก็สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยองคาพยพขับเคลื่อนกลุ่มสามมิตร ก็มาจากอดีตพรรคของทักษิณ

ดังนั้น โครงสร้างและวิธีบริหารผลประโยชน์ของพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย จึงมีลักษณะไม่แตกต่างกัน เพราะมีรากฐานมาจากคนกลุ่มเดียวกัน

ในสมรภูมิการเมืองปัจจุบัน ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายให้เห็นว่าใครเป็นใคร ใครเลือกอยู่ ฝ่ายไหน ฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายไม่ใช่ประชาธิปไตย เอาใคร ไม่เอาใคร แบ่งขั้วเลือกข้างกันชัดเจน

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ภายใต้การเกื้อหนุนของฝ่ายผู้มีอำนาจ

จึงเป็นเรื่องท้าทายดาบในมือ กกต.ใหม่ อย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน