396 โรงพัก

บทบรรณาธิการ

396 โรงพัก – โครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งที่ลงเอยล้มเหลว เพราะไม่ได้มีอาคารที่ทำการสถานีตำรวจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 4-5 ปีก่อน กลับมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้งในช่วงเวลานี้

เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วันที่ 20 ส.ค.นี้

หลังจากกรณีดังกล่าวมีการอภิปรายในสภา ผู้แทนฯ ตั้งแต่สมัยที่ส.ส.มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 และนำไปสู่การตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอที่นำส่งป.ป.ช.

ประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือความล้มเหลวของโครงการที่เริ่มต้นในปี 2552 มาจากการตัดสินใจและบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อการใช้งบประมาณของประเทศหลายพันล้านหรือไม่

ถ้าใช่ใครจะต้องรับผิดชอบ

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ชัดเจน เนื่องจากปรากฏโครงสร้างอาคารที่ใช้งานไม่ได้ หลังจากโรงพักก่อสร้างไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด อีกทั้งทำให้ตำรวจต้องหาสถานที่อื่นทำงาน

ความผิดพลาดนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงสัญญาการก่อสร้างจากเดิมที่ให้กระจายประมูลรายภาค มาเป็นรวมสัญญารายเดียว ในปี 2554

เมื่อไม่มีการกระจายงานก่อสร้าง ดังที่ควรจะเป็นตามมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จนทำให้การก่อสร้างไม่เสร็จ และมีผลเป็นอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว

ผู้ต้องรับผิดชอบจึงควรเป็นผู้ที่เปลี่ยน แปลงสัญญาการก่อสร้าง

ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ในคดีนี้ 17 คน รวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นบุคคลที่อยู่ในคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 หลัง

กรณีนี้มีประชาชนติดตามจำนวนมาก ไม่เพียงเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษีประชาชนไปในทางไม่เกิดผล ยังบ่งบอกถึงการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติต่อฝ่ายบริหาร ตามกลไกประชาธิปไตย รวมถึงการทำงานของ ป.ป.ช.ในฐานะองค์กรอิสระด้วย

คดีนี้ไม่สามารถยกเอาความดีหรือไม่ดีของตัวบุคคลมาอ้างหรือโต้เถียงได้ เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าผู้รับผิดชอบได้ปฏิบัติตามมติครม.และระเบียบสำนักนายกฯ หรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงสัญญานั้นทุจริตหรือไม่

อ่านต่อ:

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน