ความไม่สบอารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต่อการรับชมผลงานของนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ไม่ว่าจะ

“เมื่อตอนค่ำวันก่อน (21 ส.ค.) ดูการแข่งขันบาสเกตบอลไทยกับอินโดนีเซีย ไทยแพ้เลยอารมณ์เสีย…”

หรือ

“สงสัยต่อไปจะต้องเลิกดูกีฬา เพราะดูอะไรก็แพ้ ที่ไม่ดูกลับชนะ แต่ไม่ได้โทษนักกีฬา ให้กำลังใจเหมือนเดิม…”

เพราะเป็นปฏิกิริยาที่ไม่ได้แตกต่างอะไรกับประชาชนไทยโดยทั่วไป ที่ส่งกำลังใจ-เอาใจช่วยนักกีฬาให้ประสบชัยชนะ

แต่ลำพังปฏิกิริยาหรืออารมณ์ไม่สามารถยกระดับหรือพัฒนาการกีฬาของประเทศขึ้นมาได้

ปรารภของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด คัดตัวแทนนักกีฬาเก่งๆ มาแข่งกับนักกีฬาทีมชาติ ถ้าแพ้ให้คัดออก

พร้อมกับเน้นย้ำให้โรงเรียนกีฬาเน้นผลสัมฤทธิ์มากกว่าปริมาณ ไม่ใช่แต่ละปีผลิตนักกีฬาทีมชาติได้ปีละ 2-3 คน ถ้าเช่นนั้นให้ยุบโรงเรียน แล้วนำงบประมาณไปสนับสนุนโรงเรียนปกติดีกว่า

อาจจะเป็นการด่วนสรุปและยังมีอารมณ์เจือปน มากกว่าการใช้เหตุผลและข้อมูลเข้ามาประกอบการตัดสินใจ

เพราะการแพ้ชนะในกีฬาแต่ละประเภทนั้น มีข้อมูลอีกหลายประการต้องนำมาร่วมพิจารณา

อาทิ สถิติของการแข่งขันของนักกีฬาประเภทนั้นๆ ไปจนกระทั่งความสามารถของคู่แข่งขัน

หากสถิติหรือความสามารถในการแข่งขันของนักกีฬาไทยยกระดับขึ้น เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ด้านหนึ่งย่อมแปลว่าการให้การศึกษาด้านการกีฬาพัฒนาขึ้น

แต่จะต้องไม่ลืมว่า ในระหว่างที่เรายกระดับหรือพัฒนาขึ้น นักกีฬาหรือการศึกษาด้านพลศึกษาของประเทศอื่นๆ ก็ปรับปรุงพัฒนาขึ้นตามไปด้วย

ผลแพ้ชนะก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ควรแก่การพิจารณา แต่ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดสำหรับการ ตัดสินใจ

และในฐานะผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศ การสั่งการหรือแก้ไข ปรับปรุง หรือ พัฒนาอะไรก็ตาม ควรทำไปด้วยเหตุผล ข้อมูล ข้อเท็จจริง

มากกว่าการใช้อารมณ์เฉพาะหน้ามาตัดสิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน