การประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ ว่าด้วยเรื่องกิจกรรมทางการเมืองที่จะอนุญาตให้สมาชิกพรรคการเมืองทำได้ในบางเรื่อง เป็นที่มาของคำว่า คลายล็อก แทนที่จะเป็น ปลดล็อก

การคลายล็อกเป็นการผ่อนผันให้พรรคการ เมืองทำในสิ่งที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและรัฐบาลควบคุมได้ เริ่มจากการ ตั้งหัวข้อไว้คร่าวๆ 6 ข้อ

หนึ่ง-พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ สอง-ให้ความเห็นเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งได้ สาม-ดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้ สี่-ตั้งกรรมการเพื่อสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ห้า-ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้

ข้อหกขัดแย้งกับ 5 ข้อที่กล่าวมา คือยังไม่ให้หาเสียงเลือกตั้ง

แนวทางคลายล็อกข้อที่ 6 ดังกล่าว สวนทางกับการเข้าสู่บรรยากาศต้อนรับการเลือกตั้งที่ควรเปิดกว้างให้พรรคต่างๆ ทำกิจกรรมเข้าหาประชาชนได้โดยปกติ เพื่อสร้างความสมดุลทางโอกาสแก่ทุกพรรค ไม่ว่าใกล้ชิดหรืออยู่ห่างจากรัฐบาล

การตัดเส้นทางสื่อสารระหว่างสมาชิกพรรค การเมืองกับประชาชนด้วยคำจำกัดความว่าห้ามหาเสียงนั้น เป็นเรื่องที่ตีความได้ยาก และอาจเป็นข้อพิพาทถึงความเหลื่อมล้ำหรือเลือกปฏิบัติโดยไม่จำเป็น

ยิ่งเมื่อมีประเด็นการพิจารณาห้ามหาเสียงทางโซเชี่ยลมีเดียด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่ทำให้การคลายล็อกจำกัดอยู่แต่ในวงแคบๆ อีกทั้งยังสวนทางกับสภาพความเป็นจริง

มีอดีต กกต.บางท่านแนะนำในกรณีหาเสียงทางโซเชี่ยลมีเดีย ว่า แทนที่จะห้ามไปหมด น่าจะปรับเปลี่ยนมาคุมเข้มเฉพาะในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้ง หรืออาจจะเป็น 15 วันตามที่บางคนเสนอ

ความเหมาะสมของช่วงเวลาที่จะห้ามนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะผ่านการปรึกษาและถกเถียงกันเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมสมกับเป็นการคลายล็อกอย่างแท้จริง

คำถาม ณ วันนี้คือ การที่ คสช.หรือรัฐบาลจะคลายล็อกดังกล่าวได้คำนึงถึงประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสิ่งแรกหรือไม่

เพราะหากนำประชาชนเป็นตัวตั้งแล้ว การตัดสินใจคลายล็อกต่างๆ จะเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากซับซ้อนใดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน