ความโน้มเอียงไปทางพรรคพลังประชารัฐไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ผลดีก็คือ “กลุ่มสามมิตร”เคลื่อนไหวได้โดยสะดวก

“ที่สามมิตรหารือกับผู้นำท้องถิ่นต่างๆ เขาไปคุยกันก็จริง แต่ถามว่าเขาอยู่พรรคไหน จะเป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร”

เป็นการการันตีจากปาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ผลดีก็คือ ไม่ว่าการเดินทางไปหาผู้ร่วมงานที่ชัยภูมิ ไม่ว่าการตระเตรียมบรรยายพิเศษเรื่องโครงการโคล้านตัวของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นไปด้วยความราบรื่น

แต่ในอีกด้านเกิดอาการแหม่งๆอันมาจากหลายพรรคการเมืองที่เคยประกาศหนุนคสช.หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่คือ ผลข้างเคียงเนื่องจากกรณี “เข็มขัดสั้น”

ท่าทีจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป ต่อสถานะ การเป็น “คนกลาง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่าแหลมคมอย่างเป็นพิเศษ

ต้องยอมรับว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน มีความมั่นคง

เขาเป็นผลผลิตของ “คสช.” โดยแท้ เป็นคนแรกที่ประกาศจะจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐานต่อการสืบทอดอำนาจของคสช.

โดยได้ผลสะเทือนจากความสำเร็จในการลง “ประชามติ”

นั่นเท่ากับเริ่มต้นจากเดือนสิงหาคม 2559

นั่นเท่ากับพรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เก๋ากว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเก๋ากว่าพรรคพลังประชารัฐของ นายชวน ชูจันทร์

อย่าว่าแต่”กลุ่มสามมิตร”ที่ขับเคลื่อนโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อันเป็นซากเดนจากพรรคไทยรักไทย

การตั้งข้อสังเกตของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จึงสำคัญ

ยิ่งคสช.เทใจให้ “กลุ่มสามมิตร”และพรรคพลังประชารัฐเท่าใด อาการงอนจากลูกแหล่งตีนมืออื่นจะยิ่งเผยแสดง

ลำพังการเอนเอียงให้กับ “กลุ่มสามมิตร”ก็ปวดร้าวอย่างยิ่งอยู่แล้ว

พลันที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกเตะสกัดขาในคดีความอันเกี่ยวกับแฟลตและโรงพักตำรวจเข้ามาอีก

ย่อมสะเทือนต่อพรรครวมพลังประชาชาติไทยแน่อน

หากเมื่อใด “คสช.”ไหลไปรวมกันอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เมื่อนั้นก็เท่ากับพวกเขาถูก “ลอยแพ”อย่างเต็มพิกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน