ประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อติดขัดของการปลดล็อกทางการเมืองคือการใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียในการหาเสียงทางการเมือง ไม่ว่าโดย ตัวบุคคล กลุ่ม หรือพรรคการเมือง

มีการกล่าวอ้างถึงข้อวิตกเรื่องการใส่ร้ายป้ายสี การกระจายข้อมูลเท็จที่แพร่กระจายและส่งผลทางการเมือง

มุมมองเหล่านี้น่าจะมาจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่มีการใช้โซเชี่ยลมีเดียปลุกระดมความเกลียดชัง ด้วยการนำเสนอข้อมูลและภาพอันเป็นเท็จ ให้ร้ายต่อกัน

การสร้างความสมดุลทางสังคมจึงอาศัยโซเชี่ยลมีเดียอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีสื่อมวลชนหลัก มีสถาบันการศึกษา และส่วนประกอบทางสังคมอีกมากมายที่คอยตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริง

ขณะเดียวกันหากมองอย่างเป็นธรรมแล้ว โซเชี่ยลมีเดียเป็นสนามเปิดกว้างและทำให้เกิดการตรวจสอบกันเองอย่างรวดเร็ว

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การส่งสารไหลเวียนอยู่ในโลกออนไลน์ หากเป็นทัศนคติของบุคคลและสังคม ว่าจะมีสติและปัญญาในการรับข้อมูลข่าวสารอย่างไร

เพราะหลายๆ กรณีที่มีการแสดงหลักฐานข้อมูลอย่างชัดเจนในเรื่องที่เกิดข้อพิพาทและความเข้าใจผิด ยังมีคนจำนวนหนึ่งพร้อม ที่จะปิดกั้นตนเองจากการรับรู้รับทราบและไตร่ตรอง

เมื่อบัวอยู่ใต้ตมแล้ว การดึงกลับขึ้นมาพ้นน้ำจึงเป็นหนทางที่เกิดได้ยาก

การควบคุมสื่อโซเชี่ยลมีเดียออกจากการเมืองจึงไม่ใช่หนทางที่ควรเป็น หากต้องเป็นการปรับตัวร่วมกันของสังคม

กรณีเฟซบุ๊ก เครือข่ายโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กรายใหญ่ของโลก ลบทิ้งบัญชีผู้นำการทหารและ ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่เผยแพร่ข้อความและภาพปลุกระดมให้เกลียดชังชาวมุสลิมโรฮิงยา เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวโดยโซเชี่ยลมีเดียเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

แต่การจะห้ามนักการเมืองและพรรคการเมืองเผยแพร่นโยบายเพื่อหาเสียงทางโซเชี่ยลมีเดีย ไม่เรียกว่าการปรับตัว แต่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน