กรณี นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 (GT 200) และอัลฟ่า 6 ว่า

เรื่องดังกล่าวยังคงพิจารณาอยู่ และยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความแน่นอน

แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น

อย่างไรก็คงจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง

ประการหนึ่ง ในแง่ข้อเท็จจริง กรณีจีที 200 เป็นคดีที่ศาลอังกฤษตัดสินพิจารณาลงโทษทั้งจำทั้งปรับผู้ผลิต-ผู้ขายไปแล้วเป็นเวลานาน มีการยืนยันว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติดังที่อวดอ้างจริง

ไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบากที่จะพิจารณาหรือหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเลย

ประการหนึ่ง การอ้างว่าผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวรู้สึกอุ่นใจ เป็นการใช้ตรรกะที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่อุปกรณ์ดังกล่าวมีคุณสมบัติดังที่โฆษณาอวดอ้างจริงหรือไม่ ราคาเหมาะสมกับประสิทธิภาพหรือไม่

อื่นๆ ไม่ได้เป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาเลย

ความไม่คงเส้นคงวา หรือตรรกะของป.ป.ช. ที่ผิดเพี้ยนไปจากสามัญสำนึก ข้อเท็จจริง และการใช้เหตุผลของมนุษย์ทั่วไป

ย่อมทำให้เกิดคำถามต่อจุดยืน หลักการ และความเป็นธรรมของป.ป.ช.เอง

หากองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ จับกุมการกระทำทุจริต ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ ว่าตนเองมีความสุจริตเพียงพอที่จะไปจัดการกับปัญหา บุคคลอื่น หรือองค์กรอื่น

การดำรงอยู่ขององค์กรนั้นแทนที่จะเป็นประโยชน์สมดังเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง

กลับจะกลายเป็นภาระของประชาชน ผู้เสียภาษี

และเป็นผู้สร้างหรือเพิ่มปัญหาขึ้นมาเสียเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน