การเมืองคึกคัก ลุ้นอนาคต “บิ๊กตู่”

 

การเมืองเดือนกันยายนมีหลายประเด็นน่าจับตา

เริ่มจากที่ประชุมคสช.เมื่ออังคารที่ผ่านมา เห็นชอบให้มีการออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อ “คลายล็อก” การเมือง 6 ข้อ 9 เรื่อง เปิดรูระบายให้พรรคการเมือง ทำกิจกรรมได้ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2561 อาทิ

เรื่องทุนประเดิมพรรค การหาสมาชิก จัดประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับพรรค เลือกหัวหน้า เลขาฯ กรรมการบริหารพรรค จัดทำนโยบายพรรค เปิดสาขา จัดตั้งตัวแทนพรรค

ทั้งยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการทำไพรมารีโหวต คัดเลือกว่าที่ผู้สมัครของแต่ละพรรค รวมถึงการเสนอความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.

ยกเว้น “การหาเสียง” คสช.ยังใส่ล็อกแน่นหนา ห้ามพรรคการเมืองกระทำโดยเด็ดขาด จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วเท่านั้น

สำหรับคำสั่งมาตรา 44 ที่จะใช้คลายล็อก

น่าจะออกได้หลังจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตามปฏิทินของ กกต. คาดว่าน่าจะประมาณกลางเดือนกันยายน

ในคำสั่งยังจะมีเรื่องการเปลี่ยนวิธีทำไพรมารีโหวต โดยจะไม่ใช้วิธีการตามบทเฉพาะกาลในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่จะกลับไปยึดตามวิธีที่คณะกรรมการ ร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยเสนอต่อสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่แรก

คือให้ทุกพรรคมีกรรมการสรรหา 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหารพรรค 4 คน และสมาชิกพรรค 7 คน เพื่อไปหารือกับสมาชิกแต่ละเขต ก่อนรวบรวมรายชื่อมาจัดทำเป็นบัญชี เสนอให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนการทำไพรมารีโหวตตามรูปแบบที่สนช.ปรับเปลี่ยนจากวิธีของ กรธ. ให้ยกไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า การทำไพรมารีโหวตรูปแบบใหม่นี้ ควรทำในในช่วงสุดท้ายของระยะเวลา 90 วัน ระหว่างรอให้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้

เพราะ 60 วันแรก กกต.ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน จะได้รู้ว่าใครอยู่เขตไหน จากนั้นค่อยทำไพรมารีโหวต ก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งภายในเวลา 150 วัน และเดินหน้าหาเสียงได้

การปรับวิธีทำไพรมารีโหวตดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมืองว่า เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ไม่สอดคล้องกับการปฏิรูปการเมือง

ที่สำคัญยังเชื่อได้ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ ลบล้างข้อเสียเปรียบให้พรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คสช.

มากกว่าทำเพื่อความเท่าเทียมกันของทุกพรรคไม่ว่าพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคเก่า หรือพรรคใหม่ อย่างที่ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามชี้แจงกล่าวอ้าง

ถึงจะไม่ใช่การ “ปลดล็อก” เบ็ดเสร็จอย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ แต่โดยรวมแล้วการคลายล็อก ก็น่าจะทำให้บรรยากาศการเมืองที่อึดอัดมานาน เกิดความผ่อนคลาย กลับมาคึกคักอีกครั้ง

การเมืองเดือนกันยายน ยังจะมีการนัดหารือกันรอบสอง ระหว่างตัวแทนรัฐบาลคสช. กับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน หลังจากมีคำสั่งคลายล็อกแล้ว ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

นอกเหนือจากนั้น ยังมีประเด็นใหญ่ที่สังคมเงี่ยหูรอฟังก็คือ

อนาคตทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่เจ้าตัวเคยบอกว่า จะประกาศท่าทีชัดเจนในเดือนกันยายน

ก่อนหน้านี้หลายคนประเมินว่า การต่อยอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ สามารถทำได้ใน 2 ทางด้วยกัน คือการเป็นนายกฯคนนอก และนายกฯคนใน จากการเสนอชื่อของพรรคการเมือง

สำหรับเส้นทางการเป็นนายกฯคนนอก ถึงจะมีความพยายามในการออกแบบรัฐธรรมนูญ วาง 250 ส.ว.จากการคัดเลือกแต่งตั้งเป็นกลไกเปิดทางรองรับ

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ง่าย เพราะต้องรอให้พรรคการเมืองโหวตเลือกนายกฯคนในไม่ได้เสียก่อน จากนั้นต้องมีมติของสองสภาให้ไปเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ ซึ่งต้องมีเสียงรับรอง 500 เสียง จาก 750 เสียง

และในการโหวต ต่อให้มี 250 ส.ว.พร้อมทำหน้าที่เป็น “นั่งร้าน” อยู่แล้ว ก็ยังต้องไปกวาดต้อนหาส.ส.อีก 250 เสียงมายกมือสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ คงไม่เอาด้วย

เมื่อวิธีการได้มาซึ่งนายกฯคนนอก สลับซับซ้อน มีแนวโน้มไม่ราบรื่นเหมือนที่คิดฝันไว้แต่แรก จึงต้องเบนเข็มมายังทางเลือกที่สอง คือการเป็นนายกฯ จากการเสนอชื่อของพรรคการเมือง

ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของกระแสข่าวความพยายามจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นในทำเนียบรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยมี 1 รองนายกฯ กับอีก 2 รัฐมนตรีเป็นแกนนำ

พร้อมกับการปรากฏชื่อของพรรค”พลังประชารัฐ”

และการแจ้งเกิดของกลุ่ม “สามมิตร” จากการจับมือกันของ 3 นักการเมือง รุ่นใหญ่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอีก 1 ส. ในทำเนียบรัฐบาล

พฤติกรรมกลุ่มสามมิตรในการออกตระเวนเดินสายดูดอดีตส.ส.จากพรรคต่างๆ เข้ามาร่วมงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 1 ใน 3 แกนนำกลุ่ม เคยประกาศจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจนว่า เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

ประกอบกับการที่ระยะหลังมีการจัดประชุมครม.สัญจร พบปะชาวบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดเหนือ ใต้ ออก ตก อย่างถี่ยิบชนิดรายเดือน

ความเคลื่อนไหวทั้งสองทางนี้ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามคสช. มองว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ช่วงโค้งสุดท้ายในการเป็นรัฐบาล หาเสียงตุนคะแนนล่วงหน้า เตรียมพร้อมลงสนามการเมืองแบบเต็มตัว

ซึ่งนอกจากพรรคพลังประชารัฐ ยังมีพรรคพันธมิตรอื่นๆ ไม่ว่าพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพรรคของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนไปในทางเดียวกัน

ทั้งหมดจึงนำมาสู่การคาดเดาแบบฟันธงว่า อนาคตทางการเมืองที่พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมประกาศความชัดเจนในเดือนกันยายนนี้

น่าจะหมายถึงการตัดสินใจ เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อรอการเสนอชื่อเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะกำหนด วันเวลาที่แน่นอนอีกครั้ง ตามปัจจัยความพร้อมและความได้เปรียบของฝ่ายตน

คสช.เคยกล่าวอ้างว่า ยึดอำนาจเข้ามาเป็น “กรรมการ” เพื่อปฏิรูปการเมือง แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่พออยู่มานาน 4-5 ปี สุดท้ายกรรมการ กลับตัดสินใจโดดลงมาเป็น”ผู้เล่น” เสียเอง

สิ่งที่ตามมาคือคำถามที่ว่า

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้มีอำนาจจากการปฏิวัติรัฐประหาร ได้เปิดเผยความต้องการชัดเจนในการสืบทอดอำนาจนั้นต่อไป ภายใต้กฎกติกาที่กำหนดขึ้นเอง

มุ่งสร้างความอ่อนแอให้กับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันก็มุ่งเอื้อประโยชน์ สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในต้นปี 2562 จะมีความเป็นธรรมในการแข่งขัน เป็นเครื่องนำพาประเทศออกจากความขัดแย้งได้หรือไม่

หรือยิ่งติดหล่ม จมลึกกว่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน