ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2561 จากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ในระดับ 83.2 สูงที่สุดในรอบ 64 เดือน อาจไม่ตรงกับการรับรู้และบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ประชาชนหลายคนหลายกลุ่มเผชิญอยู่

ยิ่งเมื่อสรุปว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากที่ปรับตัวลดลงช่วง 3 เดือนก่อน ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ

ส่วนข้อความประกอบดัชนีว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นมาสู่ระดับ 100 เป็นครั้งแรกจะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ถือเป็นอีกเรื่องที่น่าออกไปเดินสำรวจตลาด ห้างร้านต่างๆ รวมถึงกิจการของผู้ประกอบการรายย่อย

เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นและน่าจะใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากขึ้น

ตัวเลขของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ดังกล่าวมองว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.6-5 มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.5 จึงจะประกาศปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า

ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประจำเดือนกันยายน 2561 ประเมินต่างไปว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง อาจเติบโตผ่อนแรงลง จากปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ

อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.3-4.8 ประเมินจากการส่งออกน่าจะเติบโตร้อยละ 7-10 การท่องเที่ยวที่เริ่มชะลอตัวลง และดัชนีราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัว

ระหว่างการสำรวจและคาดการณ์ดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคเพิ่งเห็นชอบกรอบจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ปีงบประมาณ 2563 สูงถึง 28,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นค่าดำเนินงานโครงการของจังหวัด 19,600 ล้านบาท กลุ่มจังหวัด 8,400 ล้านบาท และค่าบริหารงานจังหวัด 695 ล้านบาท กลุ่มจังหวัด 89 ล้านบาท

แม้ชื่องบประมาณคล้ายการกระจายรายได้ หากแต่ละพื้นที่ต้องให้จัดทำแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทแผนปฏิรูปประเทศแผนพัฒนาฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐบาลที่มาจากส่วนกลาง

ความหวังและความเชื่อมั่นที่จะได้เห็นการกระจายตัวของเศรษฐกิจจึงน่าสงสัยพอๆ กับตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน