สถานการณ์ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้ง เริ่มปรากฏภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

จากการที่คสช.เปิดไฟเขียวใช้อำนาจตามมาตรา 44 “คลายล็อก” ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ 6 ข้อ 9 เรื่อง

หลังร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเษกษา ซึ่งคาดว่าน่าจะประมาณกลางเดือนก.ย.นี้

ทั้งนี้ รัฐบาลคสช.ย้ำว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่จะออกมาเป็นแค่การคลายล็อกเท่านั้น ไม่ใช่การ “ปลดล็อก” เบ็ดเสร็จ

ดังนั้น ถึงจะจัดประชุมพรรคเลือกคณะผู้บริหาร หาสมาชิกพรรค ทำไพรมารีโหวต คัดเลือกผู้สมัครส.ส. ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถหาเสียงได้

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิ.ย. ในการหารือร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาลคสช. กกต. กรธ.และพรรค การเมือง เพื่อรับฟังความเห็นการเตรียมการเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ สรุปผลหารือครั้งนั้นว่า กกต.เสนอตุ๊กตา วันเลือกตั้งต้นปี 2562 ไว้ 4 วัน ได้แก่ เร็วสุดวันที่ 24 ก.พ. ถัดมาเป็น 31 มี.ค. และ 28 เม.ย. ไปจนถึงช้าสุด 5 พ.ค.2562

ในประเด็นวันเลือกตั้งนี้ ต่อมาได้รับการยืนยันจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคสช. รวมถึงการกำหนดปฏิทินเลือกตั้งของกกต.

ยืนยันการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นเร็วกว่า 24 ก.พ.แต่ก็จะไม่ช้ากว่า 5 พ.ค.2562

ส่วนความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวิษณุ เครืองาม ระบุ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ประการ

คือ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การ ได้รับพระราชทานพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. การผลัดเปลี่ยนกกต.ชุดเก่ากับ ชุดใหม่ การเลือกตั้งท้องถิ่น และ

ความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไปของบ้านเมือง

สําหรับการปลดล็อกการเมือง รัฐบาลคสช.จะยึดตามสูตร 90+90+150

90 วันแรก ระหว่างรอกฎหมายลูกสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะสิ้นสุดช่วงราวกลางเดือนก.ย.นี้

90 วันถัดมา รอให้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ใน 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะอยู่ระหว่างกลางเดือนก.ย.ถึงกลาง เดือนธ.ค.

จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน

โดยคสช.จะ “ปลดล็อก” ทั้งหมดช่วงนั้น หมายถึงยกเลิกประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งคสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งคสช.ที่ 53/2560

ในปัจจัย 5 ประการที่จะมีผลให้เลือกตั้งช้าหรือเร็ว

ข้อแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลคสช.ให้ความสำคัญกับการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญของคนไทยทุกคน ดังนั้น

การเลือกตั้งจะเกิดหลังพระราชพิธี

ข้อสอง เกี่ยวกับกฎหมายลูกสองฉบับ ก็ไม่น่ามีปัญหา เช่นเดียวกับข้อสาม การเปลี่ยนผ่านกกต.ชุดเก่า-ชุดใหม่ ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาสะดุด

ข้อสี่ การเลือกตั้งท้องถิ่น วันอังคารที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 6 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ก่อนส่งให้ที่ประชุมสนช.นัดพิจารณา

คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ราวปลายปี ทำให้ตีความได้ว่า เลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นหลังเลือกตั้งส.ส.แล้ว

ข้อสุดท้าย ปัจจัยความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

“หากเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือว่าวางใจได้ แต่ถ้าเกิดเหตุใดในอนาคตก็อาจกระทบต่อกำหนดเวลาของการเลือกตั้ง” นายวิษณุ เครืองาม ระบุ

แต่ก็ปรากฏว่า ล่าสุด เพียงแค่เตรียมคลายล็อก ความขัดแย้งก็เริ่มฉายภาพให้เห็น โดย 2 พรรคการเมืองกับอีก 1 กลุ่มการเมือง เปิดศึกตะลุมบอนกันในพื้นที่ จ.นครราชสีมา

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน อดีตแกนนำนปช. สมาชิกกลุ่มสามมิตร หอบเอกสารหลักฐานการ “ตกเขียว”

จ้างอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรืออสม. ไล่เก็บบัตรประชาชน เพื่อนำไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค เข้ายื่นร้องต่อกกต.นครราชสีมา

ขอให้ “ยุบ” พรรคภูมิใจไทย

ขณะที่อดีตส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ก็ได้นำหลักฐานเหตุการณ์เดียวกัน เข้ายื่นร้องต่อกกต.กลางให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องออกมาตอบโต้อ้างว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องเท็จ ใส่ร้ายป้ายสี มั่นใจว่าพรรคไม่ได้ทำผิดกฎหมาย อีกทั้งตอนนี้พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ยังไม่มีผล บังคับใช้ และคนที่ถูกระบุเป็นผู้สมัครของพรรค ก็ยัง ไม่ได้เป็น

พร้อมประกาศฟ้องกลับผู้กล่าวหาถึงที่สุด

ในจังหวะกลุ่มสามมิตรเอง ก็มีเรื่องอื้อฉาว ถูกร้องเรียนไม่หยุดหย่อน

ตั้งแต่ก่อนหน้านี้เรื่องที่แกนนำออกตระเวน “เดินสายดูด” อดีตส.ส.เข้าร่วมกับกลุ่ม สนับสนุนต่อท่ออำนาจ

กับสดๆ ร้อนๆ กรณีมีหลักฐาน รูปถ่าย นายภิรมย์ พลวิเศษ แกนนำกลุ่ม มือถือไมค์ คล้องมาลัยดอกดาวเรือง ยืนปราศรัยบนรถแห่ใน จ.ชัยภูมิ คล้ายเป็นการหาเสียง

ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธตามสูตร อ้างว่า เป็นการลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้รัฐบาล ไม่ใช่การหาเสียง หรือเปิดตัวผู้สมัครแต่อย่างใด

เมื่อกล่าวถึงกลุ่มสามมิตร สังคมทั่วไปรู้กันดีว่า เป็นกลุ่มขับเคลื่อนให้พรรคพลังประชารัฐอีกทอด

ที่สำคัญมีความเป็นไปได้แทบจะแน่นอนว่า ผู้มีอำนาจจากการรัฐ ประหาร เตรียมเปิดตัวเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

ประกอบกับมีกระแสข่าว รัฐมนตรี 2 คนในรัฐบาลชุดนี้เตรียมลาออก เพื่อไปรับเก้าอี้หัวหน้าพรรคและเลขา ธิการพรรคพลังประชารัฐด้วย

ดังนั้น การที่แกนนำคสช.ออกมาปกป้อง ทั้งที่กลุ่มสามมิตรแสดง ออกอย่างโจ่งแจ้ง ถึงพฤติการณ์หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและขัดคำสั่งคสช.

อาจทำให้เกิดข้อครหาว่า คสช.มีส่วนรู้เห็นกับการเอารัดเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นที่เป็นคู่แข่ง และไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของตนเอง

นอกจากนี้ทำให้มองได้ถึงสถานการณ์เริ่มเข้าเค้า ตามที่เคยมีการวิเคราะห์ไว้ การที่กลุ่มสามมิตรเดินสายดูด และทำกิจกรรมสุ่มเสี่ยง โดยไม่เกรงกลัวข้อครหาและกฎหมาย

อาจมีจุดประสงค์ต้องการสร้างความปั่นป่วนในสนาม ทำให้สังคมเห็นว่านักการเมืองยังมีพฤติกรรมซื้อเสียง เดินสายดูด อยู่ในวงจรอุบาทว์เดิมๆ น่าเอือมระอา

นำไปสู่บทสรุปว่า สถานการณ์ยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง จนกว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ

ไม่เช่นนั้นหากปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ก็จะได้นักการเมือง “แบบเดิม” เข้ามาเป็นรัฐบาล เหมือนที่ท่านผู้นำพูดตั้งแง่ในประเด็นนี้บ่อยครั้งในระยะหลัง

นักการเมืองหลายคนตั้งข้อสังเกต

ข้ออ้างความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แทบจะเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ผู้มีอำนาจมักหยิบขึ้นมาใช้เป็นเงื่อนไขทุกครั้งเมื่อการเลือกตั้งเริ่มมีความชัดเจน

ผู้มีอำนาจมักกล่าวโยนบาปให้นักการเมือง เป็นต้นเหตุความขัดแย้ง ความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ความไม่สงบเรียบร้อย หรือความขัดแย้งในบางเรื่อง เป็นความพยายามจงใจสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้ง

เพราะลึกๆก็ไม่มั่นใจว่า ถ้าเลือกตั้งแล้วฝ่ายตนเอง จะชนะหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน