กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเดินทางไปยังบ้านนักการเมืองในจังหวัดพิษณุโลกที่เรียกร้องการคืนอำนาจและการเลือกตั้ง นับว่าเป็นเรื่องที่สวนทางกับช่วงเวลาเตรียมการฟื้นฟูประชาธิปไตย

แม้จะเป็นการเข้าเยี่ยมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่การทำในหน้าที่ทหารตำรวจ และกอ.รมน. เป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมากกว่าการเมือง

ลักษณะการปรากฏตัวถึงที่บ้านนักการเมือง จึงสุ่มเสี่ยงถูกมองเป็นการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ที่ปรากฏเด่นชัดในช่วงแรกของเหตุการณ์รัฐประหาร

การย้อนกลับไปใช้วิธีเดิมทั้งที่ประเทศกำลังเดินหน้า จึงไม่น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม

ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะไปเยือนบ้านนายนคร มาฉิม นักการเมืองท่านนี้เพิ่งทำจดหมายถึงสหภาพยุโรป หรืออียู เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับขอให้อียูดำเนินการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่จะมีในอนาคต

จดหมายฉบับดังกล่าวได้รับการขานรับอย่างรวดเร็ว เมื่ออียูส่งตัวแทนฝ่ายการเมืองและข้อมูลข่าวสารมาพูดคุย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักการทูตที่จะต้องเก็บข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ

แต่จากนั้นเพียงหนึ่งวัน กลับมีเจ้าหน้าที่ที่รวมถึงบุคลากรจากกองทัพตามไปพูดคุยกับนักการเมืองถึงที่บ้าน

ความเคลื่อนไหวนี้จึงไม่เพียงกระทบต่อนักการเมืองไทยยังอาจถูกตีความว่าส่งสัญญาณไปถึงอียูด้วย

ประเด็นที่เจ้าหน้าที่รัฐควรตัดสินใจให้ดี ในช่วงเวลานี้ คือการแสดงออกถึงความ มุ่งมั่นที่จะสร้างบรรยากาศของการฟื้นฟู ประชาธิปไตย

เพราะการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย หากบรรยากาศของการมีประชาธิปไตยไม่เกิดในช่วงเวลาเลือกตั้ง จะเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

เฉพาะการที่ยังไม่ปลดล็อกทางการเมืองให้เปิดเผยสง่างามในขณะนี้ ด้วยข้ออ้างทางกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่แปลกอย่างยิ่งแล้ว

จึงไม่ควรจะทำการใดๆ ให้ประเทศไทยแปลกแยกจากประเทศประชาธิปไตยไปมากกว่าเดิมอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน