“รายงานพิเศษ”

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน ที่มีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ เป็นประธาน จัดเสวนาหัวข้อ “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง” โดยมีตัวแทนจากกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองร่วมแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์การเมืองไทย ดังนี้

จาตุรนต์ ฉายแสง

แกนนำพรรคเพื่อไทย

การไม่ให้พรรคการเมืองทำนโยบาย ไม่ให้นักการเมืองและประชาชนแสดงความเห็น ถือเป็นการทำลายความหมายของการเลือกตั้ง ที่ตามระบอบประชาธิปไตยคือ ตัวตัดสินว่าใครจะเป็นรัฐบาล เพื่อตัดสินความขัดแย้ง

ข้อเสียตกอยู่กับประชาชน ที่จะไม่รู้เลยว่านโยบายของพรรคการเมืองเป็นอย่างไร จนกว่าจะเข้าไปในสภาแล้ว

มันสวนทางการปฏิรูปการเมือง ที่ไม่เชื่อกันก่อนปี 2557 แต่ผ่านไป 4 ปีกว่า กลับบอกว่า ไม่ขอใช้ระบบนั้น ไม่ให้การเลือกตั้งทำหน้าที่ของมัน นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่คือความจงใจ ตั้งแต่เขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก และคำสั่งเรื่องคลายล็อกปลดล็อก

ถือเป็นแผนเดียวกันทั้งหมด เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในหมู่คนจำนวนมากว่า การเลือกตั้งก็แค่นี้ พรรคการเมืองไม่มีนโยบายอะไร ส่วนผู้นำคสช.ก็ดี เพราะวิจารณ์ไม่ได้ ในการเลือกนายกฯ มี 250 ส.ว.อยู่แล้ว หากรวมส.ส.ได้ 126 เสียง จะเกินครึ่งของรัฐสภา เลือกนายกฯได้

หากมองแบบคอการเมือง พรรคการเมืองที่พยายามดึงตัวส.ส.กันอยู่ เชื่อว่า พรรค การเมืองที่สนับสนุนคสช.จะได้ไม่ถึง 50 คน แต่โจทย์คือ ต้องให้ได้ 126 คน อย่างน้อยต้องดูว่าจะเฮโลกันจนเกิน 250 เสียงของส.ส.เลยหรือไม่ เพราะมี 250 ส.ว.รออยู่แล้ว

ส่วนพรรคเพื่อไทยมีความเห็นง่ายๆ คือ ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก รวมถึงไม่สนับสนุนการอยู่ 1 ใน 3 บัญชี แม้จะมีเสียงจำนวนมากสนับสนุน ถ้าคสช.ตั้งรัฐบาลได้ เพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้าน

จุดยืนของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว ยืนยันว่า จะไม่ร่วมกับคสช.ในการสืบทอดอำนาจ จะเปิดเป็นพันธมิตรกับพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจคสช.

การเมืองจะตันหรือไม่ตัน ไม่เกี่ยวกับว่าเพื่อไทยต้องลดเงื่อนไขอะไร ใครตั้งรัฐบาลได้ก็ทำไป พรรคการเมืองไหนรวมเสียงได้ 250 เสียง ได้ก็จบ นี่เป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญเก่า แต่รัฐธรรมนูญใหม่ แม้พรรคการเมืองรวมเสียงส.ส.เกิน 250 เสียง แต่จะห้าม 250 ส.ว.ที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ได้

คสช.เองจะบอกว่า ประชาชนอยากให้มีอำนาจต่อไป พอเลือกพรรคเสียงข้างมากจะได้ประธานสภา แต่พอเลือกนายกฯอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเพียง 126 ส.ส. ไปร่วมกับ 250 ส.ว. ก็ตั้งนายกฯได้

ทีนี้ 250 ส.ส. ที่เหลือที่ตกลงกัน ถ้ายังรวมกันติด นายกฯที่เขาเลือก ก็บริหารประเทศไม่ได้ พออภิปรายไม่ไว้วางใจก็จบ มันวัดกันที่สภาล่าง หากเขาตั้งรัฐบาลได้ มีเสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงภายหลัง เพื่อไทยก็พร้อมทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สร้างปัญหาอะไร

ถ้าเขามีเสียงข้างมาก ส.ส. 300 เสียง บวก ส.ว. 250 เสียง เสถียรภาพจะมีมาก แต่ภายนอกสภาคนจะรับได้หรือไม่ คนจะบอกว่า เขาเลือกพรรคอื่น นโยบายเขาก็ไม่ได้ ตรงนี้จะกลายเป็นวิกฤตการเมืองหรือไม่

สมมติว่าพรรคการเมืองตั้งรัฐบาลได้ท่วมท้น 376 เสียงขึ้นไป จะมีปัญหาว่าจะสะดุดตรงไหน หรืออาจจะถูกล้ม ทำนโยบายไม่ได้ ประชาชนจะเห็นปัญหาว่า ทำไมรัฐบาลที่มีส.ส.กว่า 3 ใน 4 แล้ว ยังมีปัญหา คนจะคิดว่าแบบนี้กติกามีปัญหาแล้ว

สุดท้ายคนจะเห็นว่าปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้าไม่แก้ไปต่อยาก ถามว่าตันหรือไม่ ก็ไม่เชิง ก็ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ โดยที่บ้านเมืองไปไม่ได้ ก็เป็นวิกฤต คนที่บอกไม่ฉีก ก็จะฉีกอีก

นี่คือทาง 2 แพร่ง ที่ประชาชนจะเลือก ตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ คสช.จะใช้ความคิดของพวกตนบริหารหรือพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาบริหาร

การจะได้ 376 เสียงโดยที่เพื่อไทยต้องร่วมกับประชาธิปัตย์นั้น คณิตศาสตร์การตั้งรัฐบาลรอบนี้ ใครได้ 126 เสียงขึ้นไป ตัดสินใจไม่ร่วมกับพรรคการเมืองอื่น โดยไร้เสียงสนับสนุนจาก 250 ส.ว. จะตั้งรัฐบาลไม่ได้

ผมคิดว่าเพื่อไทยไม่ควรรีบตัดสินใจ ปิดความร่วมมือกับพรรคการเมืองพรรค การเมืองใด แต่การจะร่วมรัฐบาลระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยคงยังไม่เกิดขึ้น

ถ้าคสช.เป็นรัฐบาล เพื่อไทยเป็นฝ่าย ค้าน แล้วประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านด้วย ผมร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นวิปฝ่ายค้านได้ เพราะแค่คุยกัน ไม่ได้ทำนโยบายอะไร

จตุพร พรหมพันธุ์

ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ในฐานะราษฎรเต็มขั้น เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหนไม่ได้ เป็นห่วงบ้านเมืองกับสถานการณ์การเมืองข้างหน้าว่าจะต้องเจอกับอะไร เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกออกแบบให้มีเรื่องได้ตลอดเวลา คนเขียนรัฐธรรมนูญ 2534 ก่อนเกิดเหตุพฤษภา 2535 จะเห็นว่า แม้เลวร้าย แต่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 หลายเท่า

ตอนนี้มีกระแสเรียกร้องให้ปลดล็อก เพื่อเตรียมการหาเสียง เห็นว่า พรรคการเมือง ควรคลายล็อกจิตใจตัวเองเสียก่อน เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความชุลมุน ระฆังไม่เริ่มก็เอากันแล้ว

แค่นัยยะนายกฯคนนอก นายกฯคนใน ก็เกิดเรื่องได้แล้ว ต้องรับความเป็นจริงว่า นายกฯคนนอกหรือนายกฯคนใน เอาแน่อะไรกับคนไทยไม่ได้ ขึ้นกับสถานการณ์

ถ้านายกฯคนในคนไหน ไม่ผ่านความเข้าใจจากการพูดคุย ก็ต้องเจอกับองค์กรอิสระ ที่ถูกออกแบบให้มีอำนาจมากกว่าเดิม เจอส.ว. 250 ที่เท่ากับ 1 ใน 3 ซีกของรัฐสภา

เราจะเห็นนายกฯคนใน นับ 3 เดือนหรือ 6 เดือน ได้ก่อนนายกฯคนนอกที่รอเสียบอยู่จะเข้ามา

หากมองอีกแบบ นายกฯคนนอกจะเข้ามาแต่แรกหรือไม่นั้น เชื่อว่าพรรคการเมืองต้องชูคนในไว้ก่อนเวลาหาเสียงกับชาวบ้าน แล้วไปหักพุงเอาชนิดที่ไม่ทันตั้งตัว ทีนี้ปัญหาจะเริ่มเกิด

แม้จะหลุดยกแรกเข้าไปได้ หากเป็นคนที่ไม่อดทนกับการวิจารณ์ ถ้าเป็นคนอย่างที่ทุกคนคิดกัน ก่อนเป็นนายกฯคนนอก มีดาบอาญาสิทธิ์ ชี้เป็นชี้ตาย ออกกฎหมายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่พอเป็นนายกฯคนนอกสิ่งเหล่านี้จะหายไป แล้วถามว่า การตรวจสอบในสภาจะทนได้หรือไม่

ทุกฝ่ายต้องคุยกัน พรรคการเมืองต่างๆ ต้องอย่าเพิ่งหาเศษหาเลยกันตอนนี้ ภายใต้กติกาที่ยังเปลี่ยนไม่ได้ตอนนี้ หากเริ่มด้วยสภาพแบบนี้ ไม่ต้องนับตอนหาเสียง พอเลือกตั้งเสร็จจะหนักกันไปใหญ่

สิ่งสำคัญคือบรรยากาศ นอกจากพรรค การเมืองพูดคุยกันแล้ว ผู้มีอำนาจต้องมาหารือกันว่า จะไม่ให้เกิดเหตุพฤษภา 2535 ได้หรือไม่ การเลือกตั้งปี 2562 จะมีทับ 1 ทับ 2 ซึ่งหมายถึงระหว่างทับมีคนตาย เหมือนปี 2535 ผมไม่อยากให้มีใครตาย ไม่ว่าใครจะแพ้ หรือชนะ

ต้องยอมรับว่า 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยกลัวคำว่าไม่สงบ ต่อให้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ยังดีกว่าบ้านเมืองไม่สงบ สิ่งนี้หลอกหลอนคนไทย ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันเอง หลังเลือกตั้งจะมีเหตุอะไรนั้นไม่รู้

แต่เกรงว่า จะไปไม่ถึงวันเลือกตั้งด้วยซ้ำ หากยังเดินกันในทิศทางกันแบบนี้ต่อไป การเลือกตั้งจะยิ่งไกลออกจากฝั่ง

นาทีทองสำคัญของการลงจากอำนาจ ตามประวัติศาสตร์มักมีอะไรทำให้ผู้มีอำนาจเลือกเส้นทางที่ไม่สวยงามตลอด ทั้งที่มีทางลงที่สวยงามอยู่ เรื่องส่วนรวมต้องสำคัญกว่าเรื่องส่วนตัว ถ้ายังเป็นกันแบบเดิม เมื่อได้เลือกตั้งแล้ว จะเจอกับวิกฤตชนิดที่ใครก็ให้คำตอบไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร

ประเทศไทยจะอยู่ในสถานะเลยตามเลย ถ้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ ที่เหลือจะเป็นการกวาดต้อนเสียงกัน บีบให้เป็นเสียงข้างมากภายหลัง ตอนนี้ถ้านักการเมืองตกลงกันได้ ควรให้พรรคที่รวมส.ส.ได้เกิน 250 เสียง ตั้งรัฐบาล จริงอยู่ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ แต่นายกฯจะอยู่หรือไปขึ้นกับส.ส.

สิ่งที่สำคัญคือ ให้จับมือกันในสภา เป็นสัญญาประชาคมไปเลย ใครรวมเสียงได้ เกิน 250 เสียง ให้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อปิดทางคนนอกไปเลย แต่เดี๋ยวต้องคอยดูพอไปถึงสถานการณ์จริง

ถ้ามีโอกาสพรรคการเมืองควรคุยกัน โดยไม่ต้องเปลี่ยนจุดยืน แต่ขอให้เคารพกติกา หากซีกนักการเมืองจับมือกันภายใต้กติกานี้ ก็สามารถหาทางออกจากวิกฤตได้ คนนอกจะเข้ามาไม่ได้ ถ้าคนในทำตามกติกา

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ที่กำลังจะเดินหน้าไปสู่ทางตันคือ คสช. เพราะเกิดจากปัจจัยใหญ่ 2 ประการ คือ เศรษฐกิจ และการเมือง ปัญหาใหญ่คือ แม้รัฐบาลโฆษณาจีดีพีโตต่อเนื่อง 4 ปี พอลงลึกนั้นโตจริง แต่ต่ำสุดในอาเซียน 4 ปีต่อกัน เม็ดเงินไม่ได้ตกกับรากหญ้า แต่ตกอยู่ในมือคนไม่กี่คน

สภาพรวยกระจุกจนกระจายทั่วทุกภูมิภาคที่จะกดดันคสช.ทางเศรษฐกิจ ถ้าลงลึกในตัวเลขจะพบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ จากอันดับ 11 มาเป็น 3 ของโลก รองจากรัสเซีย และอินเดีย โดยดูจากการกระจายความมั่งคั่ง ที่อยู่กับคน 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสุดท้ายเศรษฐกิจฐานรากจะเร่งเร้าให้คสช.เดินไปสู่ทางตันมากขึ้น

ความจริงรัฐบาลก็รู้ จึงเร่งหว่านเงินเข้าไปในระบบ แต่สุดท้ายลงไปไม่ถึง เพราะเกาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากไม่รู้จักประชาชน เพราะไม่ได้มาจากประชาชน

ในทางการเมือง แน่นอนว่า เกิดจากต่างประเทศ และภายในประเทศ ที่โพลออกมาตรงกันว่า ทุกคนอยาก เลือกตั้ง มีบ้างที่ยังลังเล กลัวเลือกตั้งแล้วจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

การเลือกตั้งที่จะให้มีตามสัญญานั้น ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่คลายล็อกเมื่อไร เวลาหาเสียงมีกี่วัน รัฐธรรมนูญกำหนดแนวปฏิบัติไว้แล้ว แต่หัวใจสำคัญที่สังคมควรทราบแล้วตระหนักคือ

สุดท้ายในการเลือกตั้งคสช.จะดำรงตำแหน่งผู้เขียนกติกา มีอำนาจสูงสุด และจะเป็นผู้ลงแข่งในสนาม เลือกตั้งด้วย ความชัดเจนจะมีในเดือนก.ย.นี้ คสช.จะคอยกำกับควบคุม ตามอำนาจในรัฐธรรมนูญ มีอำนาจมาตรา 44 ในการเลือกตั้ง

การเลือก 250 ส.ว. ก็จะเป็นคสช.ชี้เองตามกฎหมายที่คสช.ออกเอง ส่วนส.ส. 500 คน แม้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูแล พอถึงขั้นเลือกนายกฯ ยังมีมาตรา 44 อีก สรุปคือ คสช.จะมีอำนาจเลือก ส.ว. ส.ส. และนายกฯ

ส่วนประเทศไทยจะมีทางออกอย่างไร เพื่อไม่กลับไปสู่วังวนเดิม จนมีสิ่งไม่พึงประสงค์เข้ามาอีกนั้น มีทางออก 4 ทาง เพื่อให้การเลือกตั้งรู้รักสามัคคี 1.ทุกฝ่ายต้องยึดการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในระบอบรัฐสภา ไม่ใช่ประธานาธิบดี

2.หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เสียงข้างน้อยก็ตรวจสอบรัฐบาล

3.เมื่อมีรัฐบาลฝ่ายบริหาร จะต้องไม่ใช้เสียงข้างมากตามอำเภอใจ ละเลยเสียงข้างน้อยจนเป็นเผด็จการรัฐสภา และ 4.ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม

ผลการเลือกตั้งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งว่า จะตั้งรัฐบาลอย่างไร เพราะนั่นคือเสียงที่ประชาชนบอกมาว่า พรรคไหนควรมีเท่าไร

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา

จุดยืนของชาติไทยพัฒนาชัดเจนว่า ไม่เอานายกฯคนนอก แต่มีการตีความว่า ถ้าเผด็จการมาลงรับสมัครจะเป็นนายกฯคนนอกหรือไม่ สำหรับคนที่ทำธุรกิจ ไม่เคยคิดเรื่องตายหรือตัน คิดเพียงอย่างเดียวจะทำอย่างไรให้เดินหน้าได้

ระบบรัฐสภาไทย มีสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อด้อยของประชาธิปไตยแบบตัวแทน คือ การเลือกตั้งนั้นแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครจะได้เป็นนายกฯ เพราะตัวแทนจะไปเลือกนายกฯ ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์ เรารู้อะไรมากกว่าสิ่งที่เราพูดเยอะแยะ ว่าสังคมไทยต้องเดินหน้าไปสู่ลักษณะไหน

วิกฤตที่ผ่านมาเชื่อว่า จะไม่มีการปฏิวัติ ถ้านักการเมืองอย่างพวกเราไม่สร้างเงื่อนไขให้เขาออกมา ตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน ต้องบอกตัวเองว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยอีก

การเลือกตั้งจะไปข้างหน้าหรือถอยหลังขึ้นอยู่กับเรา จะจับมือกันได้หรือไม่ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แล้วปล่อยพรรคทหารไป แต่ถามว่า กลไกรัฐสภาทำได้หรือไม่ เพราะต้องมีฝ่ายค้านการตรวจสอบ ถ่วงดุล ชาติไทยพัฒนาก็พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ถ้าพรรคใหญ่จับมือกันได้

แต่หากพรรคใดตั้งรัฐบาลแล้วมีแนวโน้มจะเกิดวิกฤต เราจะยืนเฉยๆ หรือจะเข้าไปก่อนแล้วช่วยกันแก้ไขทีหลัง การเลือกตั้งปี 2562 จะออกจากวังวนได้ คือ ต้องแก้ เรื่องอดทนไม่เป็น เย็นไม่พอ รอไม่ได้ จนกลายเป็นเงื่อนไขการปฏิวัตินั้น

รัฐธรรมนูญ 2560 จะดีหรือไม่เป็นอีกเรื่อง เพราะยังแก้ไม่ได้ โจทย์คือ จะเดินหน้าไปอย่างไร

สมมติว่า มี 250 ส.ว. แล้วรอ 126 เสียงส.ส. ถือเป็นเสียงข้างน้อย รวมชาติไทยพัฒนาเป็น 150 เสียงส.ส. เราจะไม่ร่วม เพราะไม่มีประโยชน์ ไร้เสถียรภาพ ถ้าบ้านเมืองพร้อมจัดการเลือกตั้งปีละ 2-3 ครั้งก็เอา แต่ถ้าร่วมให้เป็นเสียงข้างมากแล้วเดินหน้าได้ ก็ไปร่วม

ต้องยึดถือหลักการสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางที่ให้พรรคเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลก่อน โดยไม่มีอะไรมาแทรกแซง แต่พอถึงเวลาจริง เราไม่ได้โลกสวย ก็ต้องเตรียมการถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดซึ่งต้องเจอแน่นอน

หากเจอวันที่แย่สุดซึ่งเราไม่อยากเห็น ทุกคนจะอดทนได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน