ระฆังดัง-ยกแรก เลือกตั้ง24ก.พ.62

ระฆังดัง-ยกแรก – สัญญาณพร้อมเลือกตั้งดังต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 12 กันยายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการ ได้มาซึ่งส.ว. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

ตามมาด้วยประกาศคำสั่ง “คลายล็อก” ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมบางอย่างได้ อาทิ ประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับพรรค เลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาฯ และกรรมการบริหารพรรค

จัดตั้งสาขาพรรคหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หาสมาชิก สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มีทั้งสิ้น 99 มาตรา มาตรา 2 กำหนดให้กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มี ทั้งสิ้น 178 มาตรา มาตรา 2 กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จากนั้นถึงจะเข้าสู่โหมดจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล สอดรับกับโรดแม็ปรัฐบาลคสช. ที่คาดว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นช่วงต้นปี 2562 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม

หลังจาก 2 พ.ร.ป.ดังกล่าวประกาศใช้ ก็เกิดกระแสตอบรับทางบวกทันที โดยเฉพาะบรรยากาศเศรษฐกิจการลงทุน จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับตัวขึ้นสูงสุด 44.09 จุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน

สะท้อนว่าความชัดเจนของทิศทางการเมืองที่กำลังกลับเข้าสู่เส้นทางประชา ธิปไตย ส่งผลดีต่อการลงทุนในประเทศ ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น

รวมถึงการที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน

สําหรับขั้นตอนดำเนินการหลังพ.ร.ป. 2 ฉบับประกาศใช้

ในส่วนของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องออกระเบียบกกต. เดินหน้ากระบวนการคัดเลือกส.ว.ทันที

การคัดเลือกส.ว.ในส่วนของกกต. ต้องดำเนินการคัดเลือกให้ได้จำนวน 200 คน จากนั้นจะส่งรายชื่อให้คสช.เลือกขั้นสุดท้ายให้ได้ 100 คน

50 คนแรกเป็นตัวจริง ที่เหลือเป็นตัวสำรองในกรณีส.ว.ตัวจริงลาออก เสียชีวิต หรือขาดคุณสมบัติ

จากนั้น คสช.จะกำหนดกติกาเพื่อหาบุคคลอีก 200 คนเพื่อรวมกับ 50 คนแรก เป็นส.ว. 250 คน โดยกระบวนการได้มาซึ่งส.ว. ต้องเสร็จสิ้นภายใน 15 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งส.ส.

สำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงสมาชิกแม่น้ำหลายสาย ยกเว้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็นส.ว.ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้าม

เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ 250 ส.ว.ชุดนี้ ถูกตั้งแง่จากฝ่ายการเมืองมาตั้งแต่แรก เนื่องจากมีที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.ทางตรง 200 คน และทางอ้อม 50 คน

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็นส.ว.โดยตำแหน่ง รวม 6 คน

ประเด็นที่ถูกโจมตีมาก อยู่ตรงบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่กำหนดให้ส.ว.ชุดนี้มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และถึงจะมาจากการแต่งตั้ง

แต่ในวาระเริ่มแรก 5 ปี จะมีอำนาจร่วมกับส.ส. ในการโหวตเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย จากเดิมเป็นอำนาจพิจารณาของสภาผู้แทนฯ จากการเลือกตั้งเท่านั้น

และยังมีหน้าที่ตรวจ กำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

ด้วยสิทธิอำนาจหน้าที่เหล่านี้ ทำให้ 250 ส.ว.ที่กำลังจะได้มา ถูกมองว่าเป็น“กองหนุน” เทียบเท่ากับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ในการปูทางกลับสู่อำนาจหลังเลือกตั้ง

ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ถึงจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็จริง แต่ยังต้องหน่วงเวลาไปอีก 90 วัน ถึงจะมีผลใช้บังคับจริง

ในช่วงกรอบ 90 วันก่อนพ.ร.ป.มีผลใช้บังคับ แบ่งเป็น 60 วันแรกเพื่อให้กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง และ 30 วันหลังให้พรรคการเมืองเตรียมสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งส.ส.

จากนั้น กกต.จะประชุมพรรคการเมืองทั้งหมดใน วันที่ 28 กันยายน เพื่อซักซ้อมความพร้อมและตอบคำถามถึงแนวทางปฏิบัติหลังประกาศใช้พ.ร.ป. 2 ฉบับ และการคลายล็อก

จากนั้น คสช.จะนัดประชุมร่วมกับพรรคการเมืองอีกครั้ง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. จะมาเป็นประธานการประชุม

เพื่อตอบข้อสงสัยของพรรคการเมืองด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองหลักไม่ว่าจะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา หรือกระทั้งพรรคคนรุ่นใหม่มาแรงอย่างพรรคอนาคตใหม่ ต่างก็ออกมาเรียกร้องต่อคสช.

ไม่ควรคลายล็อกทีละขยัก แต่ควรถือเอาการประกาศใช้พ.ร.ป. 2 ฉบับ เป็นฤกษ์ดีในการประกาศ “ปลดล็อก” ทั้งหมด

ให้พรรคการเมืองทุกพรรคเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ และเสมอภาคเท่าเทียม ไม่มีพรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบ เพื่อให้บรรยากาศการเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เป็นไปด้วยความราบรื่น

เนื่องจากผู้นำรัฐบาลคสช. ประกาศปักหมุดเลือกตั้งไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือในอีกราว 5 เดือนข้างหน้า เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกไม่มากนัก ในการเตรียมความพร้อมสำหรับพรรคทั้งเก่า-ใหม่

หัวข้อที่ทำให้เกิดเสียงครหาหนักมาก คือการที่กลุ่มการเมืองซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองตั้งใหม่ ที่ประกาศตัวสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ สามารถเดินสายหาเสียง ชูนโยบายเชิญชวนคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้

ในบางพื้นที่ได้รับการดูแลสนับสนุนจากข้าราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทหาร โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ พื้นที่ฐานเสียงของพรรคคู่แข่ง

บวกกับการที่มีสถานะเป็นรัฐบาล ซึ่งมีความพร้อมทั้งอำนาจรัฐ กำลังคน กระสุนเสบียงกรัง การออกกฎหมายต่างๆ รวมถึงอำนาจแต่งตั้ง 250 ส.ว. ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ เหล่านี้คือแต้มต่อระดับพรีเมียม

การอ้างว่ายังไม่ปลดล็อกทั้งหมด เพราะกลัวเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหลังการรัฐประหารปี 2557 เรื่องความสงบเรียบร้อยที่คสช.ประกาศชูเป็นผลงานโบแดงมาตลอด

ขณะที่การเมืองทุกฝ่ายต่างพร้อมใจกันเดินหน้าลงสู่สนามเลือกตั้ง ไม่มีใครมีเวลามานั่งคิดสร้างความวุ่นวายขัดแย้ง จนอาจนำไปสู่การไม่มีเลือกตั้ง หรือเลื่อนเลือกตั้งออกไปแน่นอน

ทำให้เกิดเสียงค่อนแคะว่า สิ่งที่คสช.กลัวไม่ใช่ความวุ่นวายไม่สงบ เพราะเป็นแค่ข้ออ้าง แต่ความจริงกลัวแพ้เลือกตั้งจึงยังไม่กล้าปลดล็อก

โดยมองข้ามความจริงที่ว่า หากการเลือกตั้งปราศจากกฎกติกาการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม อาจนำมาซึ่งการไม่ยอมรับผลเลือกตั้งนั้นๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ในสังคม

ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าความพ่ายแพ้ของผู้มีอำนาจหลายเท่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน