“รายงานพิเศษ”

หมายเหตุ : สัมภาษณ์พิเศษ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ถึงสถานการณ์การเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ตามโรดแม็ป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 24 ก.พ.2562

โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่หลายฝ่ายกังวลว่า อาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองและความขัดแย้งอีกครั้ง จากประเด็นสำคัญเรื่อง นายกฯ คนนอก โดยมี 250 ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้งเป็นตัวแปรสำคัญ พร้อมทั้งถอดบทเรียน และเสนอแนะโมเดลทางออกจากความขัดแย้งในสังคมไทย

มองโรดแม็ปเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 อย่างไร

ไม่มีฝ่ายใดบอกได้ว่า จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ได้หรือไม่ ปฏิทินที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พูดเป็นไปตามสมมติฐาน ที่ผู้เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจง ในทางการเมืองได้เห็นการขยับตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ภายใต้ความไม่รู้ว่า จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะไม่ได้ขยับอย่างจริงจัง เป็นเพียงการสร้างภาพปรากฏการณ์

พอไปดูถึงแก่นแล้ว ในแวดวงการเมืองก็เป็นที่รับรู้กัน ไม่มีใครสรุปได้ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร

เหตุปัจจัยใดที่คสช.จะหยิบยกมาอ้าง เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งได้อีก

เหตุผลที่จะถูกนำมาอธิบายจะมีหลากหลาย ขึ้นกับสถานการณ์นั้นๆ เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ทางฝ่ายการเมืองเองก็ยังไม่ได้ตั้งหลัก ฝ่ายการเมืองจึงต้องคุยกันให้จบ แล้วจึงนัดผู้มีอำนาจ

หากฝ่ายการเมืองทำตัวเหมือนเดิมคือเป็นนักเลือกตั้ง ผมไม่แน่ใจว่าจะเดินไปถึงวันเลือกตั้งหรือไม่ หรือเดินไปถึงวันเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เลือกตั้งเสร็จแล้วจะเกิดวิกฤตขนาดไหน

ถ้านักการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง ความห่างไกลต่อการเลือกตั้งจะมีมากขึ้น และอาจนำพาไปสู่วิกฤต พรรคการเมืองจึงต้องวางเรื่องตัวเองลงก่อน เอาเรื่องบ้านเมือง เรื่องประชาธิปไตยให้ตั้งต้นได้ก่อน แต่ธรรมชาติของการเมือง ยังไม่ทันเริ่มแข่งขันก็ชกกันใต้เวทีแล้ว ซึ่งยังไม่ควรไปถึงจุดนั้น

ผมเชื่อว่าเวลานี้ ฝ่ายการเมืองหลายๆส่วนเร่งเกินอัตรา ความวุ่นวายที่จะกลายเป็นความโกลาหลจากการเร่งรีบของซีกการเมือง จะกลายเป็นเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นได้ตลอดเวลา การตะลุมบอนกันอยู่เวลานี้ จะถูกชี้ว่า ความไม่สงบจะกลับมาอีก

ต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยกลัวความไม่สงบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกใช้ไปกลบเรื่องอื่น อย่างเศรษฐกิจ ทั้งที่คือวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เราเคยประสบมา แต่คนไทยก็ทนได้ เพราะความสงบ

ถ้าเข้าใจโจทย์นี้ ซีกการเมืองต้องแต่งตัวให้เห็นว่า เลือกตั้งไป ประเทศก็ยังสงบ แล้วหลังจากเลือกตั้งจะเป็นโจทย์ใหญ่ต่อการแก้ไขปัญหาชาติ

ซีกการเมืองควรหันหน้าเข้าหากันก่อน เพื่อทำให้สังคมเห็นว่าการเลือกตั้งจะสงบ หลีกเลี่ยงวิกฤตการเมือง

ใช่ แต่ผมไม่ได้เสนอให้ทุกพรรคสงบเสงี่ยมหรือซูเอี๋ยกัน เมื่อถึงเวลาเข้าสนามก็แข่งขันกันเต็มที่ภายใต้กติกาเดียวกัน ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ก่อนเข้าสนามแข่งไม่จำเป็นต้องโฆษณาแบบคู่มวยดัง ต้องทำท่าฮึดฮัดใส่กันก่อน

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับคือ ผู้มีอำนาจคณะนี้ ถอดบทเรียนที่ผ่านมา เห็นได้จากการที่จะไม่ยอมให้ทุกอย่างตึงเกินไป ถ้าตึงเกินเขาจะรีบผ่อนให้หย่อนลงทันที มีลูกล่อลูกชน หนักก็ขอโทษ ตึงมากก็ถอย ในสังคมไทยเรา ถ้าตึงอย่างเดียว จบไปนานแล้ว ชี้ชัดว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจมีบทเรียน

ฝ่ายการเมืองต้องตกลงกันให้ชัด เราต้องจับมือกัน เพื่อเข้าสู่สนามแข่งขันอย่างเป็นธรรม หลังจากนั้น เมื่อผู้เล่นคุยกันจบ ก็ต้องนัดหารือกับกรรมการ คือผู้มีอำนาจ ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า กำลังจะกลายเป็นผู้เล่นด้วยเช่นกัน

จึงต้องคุยกันเพื่อเอาข้อเสนอที่ได้ไปต่อรองกรรมการว่า เราจะแข่งกันอย่างเป็นธรรม แล้วกรรมการต้องเป็นธรรมเหมือนกัน ถ้ากรรมการจะมาเป็นผู้เล่นด้วย การแข่งขันย่อมไม่เสรีและเป็นธรรม ต้องตกลงกันว่าจะทำอย่างไร หากคุณจะเป็นผู้เล่น คุณก็เป็นกรรมการไม่ได้

ถ้าข้อตกลงยังไม่ได้ แข่งขันไปก็จะมีเรื่อง การเลือกตั้งในปี 2562 ก็จะมี 2562/1 2562/2 เหมือน 2535/1 2535/2 มันไม่จบ จึงต้องหาทางออก ต้องแก้ก่อนตาย อย่าให้ตายก่อนแก้ เพราะคนไทยต้องตายก่อนแล้วค่อยแก้กัน ผมอยู่ในหลายเหตุการณ์คนตายร่วม 200 บาดเจ็บอีกหลายพัน พอมาถึงวันนี้มันทนเห็นความตายไม่ไหว คนตายคือประชาชน

เมื่อผู้เล่นคุยกันจบแล้วจับมือกันไปคุยข้อเสนอต่อผู้มีอำนาจในฐานะกรรมการอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้ชาติบ้านเมือง ยังไงกรรมการก็ต้องคุย ผมว่าสังคมไทยถึงยังไงก็ฟังกัน ใครไม่เอาด้วย สังคมไทยจะเป็นคนตัดสินเอง

รัฐบาลแห่งชาติก่อนการเลือกตั้งใช่ทางออกหรือไม่

ทุกวิธีอะไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในเหตุการณ์ พฤษภา 2535/1 เราได้คนนอกมาเป็นนายกฯ ชุมนุมพฤษภาทมิฬคือ การไล่นายกฯคนนอก เรียกร้องนายกฯคนใน ตายกันมา 80 กว่าชีวิต เจ็บอีกเป็นพัน แต่พอคนนอกไปแล้ว แก้รัฐธรรมนูญว่า นายกฯ ต้องมาจากส.ส. ในระหว่างช่วงรอให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ เพื่อเลือกนายกฯใหม่

แต่พอจะได้นายกฯ คนในในขณะนั้นก็เป็นทุกข์อีก ทันทีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นคนนอก ไปทูลเกล้าฯ นายอานันท์ก็ถือเป็นคนนอกที่คนไทยสบายใจ ไม่เป็นไร

นายอานันท์ เมื่อแถลงนโยบายเสร็จก็ยุบสภาทันที แล้วตัวเองเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้ง ในฐานะรัฐบาลรักษาการ แล้วจัดการกับบรรดาแม่ทัพนายกองในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ซีกหาเสียงเลือกตั้งก็หาเสียงกันไป จากปี 2535 ก็เป็นประชาธิปไตยจนถึงปี 2549 ราว 14 ปี ยาวนานพอสมควร เพราะ นายอานันท์เล่นบทกรรมการได้อย่างดี

นาทีนี้ ผมไม่อยากเสนอว่า ต้องมีรูปแบบเป็นอย่างไร แต่เราเคยมีบทเรียนตอนปี 2535/1 ก่อน 2535/2 ไล่คนนอกเอานายกฯคนใน พอได้คนในคนไทยก็ทุกข์ แต่พอได้นายกฯคนนอก ช่วงรอยต่อของรัฐธรรมนูญ คนไทยก็ไชโยโห่ร้อง นำพาประเทศไทยเรียบร้อยต่อเนื่องยาวนาน

ขณะนี้ มีหลากหลายความคิด ผมเห็นว่า ส่วนที่ทำได้เลยคือ ประชุมปรึกษาหารือกัน ขอคสช.ก็คงทำได้ทุกพรรค ถ้าคสช.ยังไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพก่อน ซึ่งเป็นเรื่องทางออกของประเทศ

นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มิเช่นนั้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ

สรุปได้หรือไม่ว่าให้ใช้โมเดลปี 2535 หากรรมการมาแทนผู้มีอำนาจหากคิดจะเป็นผู้เล่น เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการเมือง

ตอนนั้นทำให้ประเทศไทยผาสุกอย่างยาวนาน 14 ปี ตั้งแต่ 2535-2549 ซึ่งนายอานันท์จัดทั้งหมดเลย ตอนนั้นยังไม่มีกกต. แต่กลไกของมหาดไทยก็เป็นธรรม ขณะเดียวกันแม่ทัพนายกองพฤษภาทมิฬก็ย้ายหมดเลย เห็นหรือไม่ บ้านเมืองก็เดินไปได้

ผมไม่ต้องการให้เหมือน 2535/1 เพราะถ้ามีทับ 1 ก็จะมีทับ 2 จึงไม่อยากให้มีทับ เพราะระหว่างทับ มันมีคนตาย

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ควรอยู่ในข้อเสนอต่อรองกรรมการด้วยหรือไม่

รัฐธรรมนูญ 2560 ถ้าแก้ในขณะนี้ ง่ายกว่าตอนเลือกตั้งไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะต้องผ่านเงื่อนไข สัดส่วนที่ต้องให้ส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ว.แต่งตั้ง เห็นด้วย ในทางปฏิบัติทำได้ยาก อย่างรัฐธรรมนูญ 2550 ง่ายกว่านี้ แก้ทั้งฉบับก็ไม่ได้ รายมาตราก็ไม่สำเร็จ

ถ้าพูดคุยกันต่อรองแล้ว ไปได้ถึงขนาดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ควบคู่ไปกับการเลือกตั้งได้จะยิ่งดีใหญ่ สนช. จะทำได้ง่ายกว่า เพราะถ้าเลือกตั้งเสร็จไปทำ จะมีฝักฝ่าย เมื่อเริ่มต้นทำคงทะเลาะกัน ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

ทุกอย่างถ้าคุยกันให้จบ บางทีเรื่องที่ดูอาจเป็นไปไม่ได้ ก็อาจจะง่ายก็ได้ เหมือนปี 2535 ก่อนทับ 2 หลังจากความตายเกิดขึ้น 4 ประเด็นหลักของรัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไขภายในวันเดียวจบ

แต่สะท้อนว่า คนไทยต้องผ่านความสูญเสียก่อน ทุกอย่างจึงค่อยถูก ปัดเป่าอย่างง่ายดาย แต่ถ้าถอดบทเรียนก่อนแบบนี้ ก็ไม่ต้องสังเวย หรือบวงสรวงชีวิตคนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งชีวิตของประชาชนนั้นไม่ควร

ทั้งหมดนี้คือการมองโลกแห่งความเป็นจริง การพูดให้สวยหรูนั้นไม่ยาก วันนี้ต้องดูความจริงที่เกิดขึ้นว่า จะพาเราไปเจอกับอะไร ถ้ายังเดินแบบเดิมจะไปเจออะไร

ผมจึงเสนอให้เห็นว่า เส้นทางนี้พวกเราเดินกันมาตลอด 80 กว่าปีที่ผ่านมาแล้ว ฉะนั้น เราเอาเส้นทางใหม่หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยง เพราะรู้อยู่แล้วเดินเส้นทางก็จะเจอแบบเดิม

ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา แต่ละฝ่ายที่ต่อสู้ตามความเชื่อของตนเอง ไม่ได้อยู่ในฐานะของความขัดแย้งแล้ว สถานะคู่ขัดแย้งเปลี่ยนแปลงไป เวลานี้ เหลือง-แดง จะมาต่อสู้กันเรื่องอะไร คนเสื้อเหลืองก็ทุกข์ คนเสื้อแดงก็ทุกข์ แล้วไม่มีสถานการณ์การเมืองใดที่บอกว่า ทั้งสองสีเสื้อจะมาขัดแย้งกันอีก

นี่คือวิวัฒนาการแห่งความขัดแย้ง อีกสถานการณ์ก็อีกความขัดแย้งหนึ่ง เพราะตัวละครแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกัน การประเมินจึงต้องขึ้นกับสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ได้ผูกขาดความขัดแย้ง

การต่อสู้ทางการเมือง ซีกการเมืองและประชาชนจึงต้องถอดบทเรียน ไม่ต่างจากผู้มีอำนาจด้วย เพื่อผลที่ออกมาแตกต่างไปจากเดิม

ถ้าผู้เล่นไม่คุยกัน มุ่งลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง จะกลายเป็นวิกฤตการเมืองในอนาคต

ไม่ว่านายกฯ คนใน หรือนายกฯ คนนอก ก็มีเหตุ ทั้ง 2 ทาง เพราะไปต่อไม่ได้ นายกฯ คนใน จะหาเสียงส.ส.ที่ไหนมา 376 เสียง บัตรเลือกตั้งใบเดียวแทบจะเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่พรรคใหญ่จะจับมือกัน แต่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ขณะเดียวกันส.ว.แต่งตั้งมีแล้ว 250 เสียง

แต่หากฝ่ายการเมืองจับมือกันได้ เพื่อพูดกับผู้มีอำนาจได้ว่าให้ส.ว.แต่งตั้งเคารพการตัดสินใจของประชาชน พรรคการเมืองไหนที่รวมกันได้เกิน 250 เสียง ส.ว.ก็ต้องทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน

อีกมุมหนึ่งถ้าตั้งนายกฯ โดยใช้เสียงส.ส.126 คน รวมกับ 250 ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้ง ได้เป็นรัฐบาลแต่เจออภิปรายไม่ไว้วางใจโดยส.ส.ครั้งเดียวก็จบ

จุดสำคัญอยู่ที่หลังการเลือกตั้ง ประชาชนหวังว่าใครจะเป็นนายกฯ ถ้าไปหักดิบเขา จะกลายเป็นปม ส่วนนายกฯคนใน ถ้าไม่คุยกันก่อน ด่านวุฒิสภาจะเป็นปัญหาตอนพิจารณากฎหมาย และองค์กรอิสระก็ตั้งคนไว้ทุกองค์กร ไม่มีตกหล่น

คลุมทั้งหมดไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ง่ายมากที่จะถูกวินิจฉัยว่าทำผิด เพราะมันเป็นนามธรรม แค่คำว่าประชานิยมก็จบแล้ว

ดังนั้น ถ้าไม่คุยกันก่อนมันไปไม่ได้เลย รัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมมีเรื่องได้ตลอดเวลา นอกจากปราบโกงไม่ได้ จะทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ด้วย

แล้วยิ่งหากนายกฯเข้าสภาไปโดยไม่มีมาตรา 44 ในสภาเขาไม่สนว่าคุณคือนายกฯ หรือรัฐมนตรี ต่อให้ผมเข้าไปในสภาไม่ได้ เชื่อว่าเขาทนไม่ได้ ที่ต้องเจออภิปรายเช้าเย็น

ผมเห็นภาพที่พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยเจอเมื่อปี 2535 นายกฯ คนนอกทนสิ่งเหล่านี้ได้ยาก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ในฐานะกรรมการ ควรวางอนาคตการเมืองตัวเองอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตทางการเมือง

ไม่มีใครบอกได้ ในสถานการณ์ขณะนี้เพียงแค่คาดการณ์และประเมินจากปัจจุบันไปถึงอนาคต

อะไรที่ทำได้เพื่อหาทางออกร่วมกันก็ควรทำในสิ่งนั้น เพราะบางสิ่งก็นอกเหนือจากทำได้หรือไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ คงเลือกเวลาที่ดีสุดของท่าน

ปกติช่วงปลายของผู้มีอำนาจ เลี้ยวซ้ายสง่างาม เลี้ยวขวาเกิดเรื่อง ส่วนใหญ่แรงบันดาลใจ จะดลบันดาลให้เลี้ยวขวาเสมอ น้อยคนที่เลี้ยวซ้าย ได้ลงจากอำนาจกันอย่างวีรบุรุษทุกคนก็ปรบมือให้ จบอย่างสวยงาม ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

แต่ตอนปลายของผู้มีอำนาจ กิเลสทางข้างขวาจะแรงมาก พอจะเลี้ยวกลับก็ไม่ทัน แล้วก็เลยตามเลย

นาทีทองทางการเมืองเป็นเรื่องแปลก จุดสุดท้ายจะมีปัญหาเสมอ ตอนนี้คนกุมพวงมาลัยคงรู้ตัวว่า เกจ์น้ำมันเหลืออยู่เท่าไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน