คําสั่งคลายล็อกทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำให้มีปฏิกิริยาและความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมืองไปต่างๆ กัน ตามหัวข้อที่มีประกาศออกมา

ข้อที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพรรคการเมือง เช่น การประชุมพรรคและเลือกคณะกรรมการพรรคนั้นซึ่งเป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรคนั้นเริ่มฟื้นฟูกระบวนการไปตามปกติ

แต่ในข้อที่เกี่ยวโยงกับประชาชน ได้แก่ การยกเลิกไพรมารีโหวต และการห้ามพรรคการเมืองใช้เทคโนโลยีหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงสื่อโซเชี่ยล ประชาสัมพันธ์ในลักษณะหาเสียง เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ กลุ่ม

ทั้งในกลุ่มที่เคยมีส่วนร่วมสนับสนุนและกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารปี 2557

แนวคิดการทำไพรมารีโหวต เป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งของกลุ่มที่พยายามเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

การปฏิรูปการเมืองด้วยการทำไพรมารีโหวตถูกระบุว่า จะบีบให้ทุกพรรคค่อยๆ ลดหรือหยุดการดำเนินการแบบพรรคการเมือง ซึ่งมีนายทุนพรรคเป็นผู้ควบคุมอำนาจและกำหนดบทบาทสมาชิกพรรค

อีกทั้งลดอำนาจของแกนนำนายทุนพรรคในการเลือกส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อลงจากเดิม

แต่สุดท้ายแล้วเงื่อนไขของการยื้อเวลาให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งที่กินเวลามานานผิดปกติกว่า 4 ปีนี้กลับลงเอยว่าไม่สามารถจัดทำได้ในขณะนี้

เมื่อการปฏิรูปไม่ออกผลใน 4 ปี ใครจะต้องเป็นผู้ตอบเรื่องผลกระทบของการหยุดชะงักประชาธิปไตย

สําหรับการห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชี่ยลมีเดียหาเสียง ก่อให้เกิดคำถามมากมาย ว่าเหตุใดจึงต้องห้าม

ในเมื่อบ้านเมืองมีกฎหมายกำกับดูแลและควบคุมการใช้สื่อโซเชี่ยล เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การใส่ร้าย และปลุกระดมความเกลียดชังอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องห้ามใช้สื่อที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนตามสภาพความเป็นจริงในการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร

โดยเฉพาะนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกตั้ง

ในขณะที่รัฐมีสื่อของตนเองที่จะเผยแพร่ผลงานและนโยบายต่างๆ ได้มากมาย อีกทั้งยังมีพลังซอฟต์พาวเวอร์จากภาคบันเทิงธุรกิจที่จะสนับสนุน

ความเท่าเทียมและชอบธรรม จึงเป็นคำถามเรื่องตอกย้ำขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลานี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน