รายงานพิเศษ

พรรคการเมืองคัดค้านกันหนักกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) โดยใช้ มาตรา 44 คลายล็อกพรรคการเมือง 9 ข้อ

ข้อ 6 ระบุว่า พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆภายในพรรคและสมาชิกพรรคของตน โดยผ่านวิธีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้

1.คณาธิป ทองรวีวงศ์

ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิตอล ม.เกษมบัณฑิต

ตามหลักการเจตนาของคำสั่งคสช.ที่ 13/2561 ที่สืบเนื่องจากคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีเจตนาที่ดี ต้องการคลายล็อก ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ในระหว่างช่วงเวลา 90 วัน ก่อนที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้ ในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้

ทว่าในข้อ 6 ที่กำหนดห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชี่ยลมีเดีย ในการหาเสียงนั้น ทำให้ดูย้อนแย้งต่อเจตนาที่ต้องการคลายล็อกของคสช.เอง เพราะถ้อยคำที่ใช้นั้นกว้างขวาง คลุมเครือ ไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่า หาเสียง คืออะไรกินความไปไกลแค่ไหน

หากจะบอกว่า ห้ามหาเสียงที่ว่านี้มีลักษณะของการปิดป้ายหาเสียง ขึ้นรถขบวนแห่ ก็แน่นอนว่า ไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งฉบับนี้ เพราะถูกคำสั่งฉบับอื่นของคสช.อย่างการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กำกับไว้อยู่แล้ว

อีกทั้งการหาเสียงเต็มรูปแบบในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่อาจทำได้แน่นอน เพราะยังมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป

ดังนั้น การเขียนคำสั่งคสช.ที่ศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายแบบนี้ ไม่มีใครรู้ว่า การตีความหรือการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นในลักษณะไหน เพราะข้อห้ามดังกล่าว เสมือนการห้ามประชาสัมพันธ์สื่อสาร ความย้อนแย้งจึงเกิดขึ้น

พรรคการเมืองจะประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน เพื่อหา สมาชิกพรรคอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกตีความว่าหาเสียง ในทางปฏิบัติการเชิญชวนชักจูงคนร่วมเป็นสมาชิก ยากในการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงแนวนโยบาย ทิศทางอุดมการณ์ของพรรคการเมืองในอนาคต

หรืออย่างการเลือกหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค ในการเลือกก็ย่อมมีแคนดิเดต การที่สมาชิกพรรคจะลงคะแนนเลือกใคร ก็ต้องรับฟังคำปราศรัยของผู้ท้าชิง แล้วแบบนี้เข้าข่ายหาเสียงหรือไม่

หรือในกรณีการสรรหาผู้ลงสมัครส.ส. ทั้งในแบบเขตและบัญชีรายชื่อ จะนำเสนอวิสัยทัศน์ของสมาชิกแต่ละคนได้อย่างไร

แทบทุกขั้นตอนของการคลายล็อกเพื่อ ให้พรรคการเมืองต้องทำกิจกรรม ย่อมต้องใช้ การติดต่อสื่อสารกับสมาชิก ผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสังคมออนไลน์ ที่กลายเป็นสื่อหลักไปแล้ว

น่ากลัวกว่านั้นคือ ประโยคท้ายคำสั่งในข้อ 6 ที่เปิดกว้างให้ กกต.หรือคสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสาร ที่จะมี ?ผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวได้?

ซึ่งไม่รู้ว่า กกต.หรือคสช. จะกำหนดเนื้อหาในส่วนนี้หรือไม่ อย่างไร

ถ้อยคำดังกล่าวกว้างขวางมาก เปิดช่องให้มีการตีความได้อย่างหลากหลาย ไม่อาจบอกได้ว่า จะกระทบความมั่นคงหรือประชาชนอย่างไร เช่น สังคมวิจารณ์คสช.ต่อการจัดซื้อจัดจ้าง คสช.มองว่า กระทบประชาชน ห้ามทำ จะทำอย่างไร

เนื่องจากตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิเสรีภาพและการแสดงออกทางการเมืองคือ เรื่องที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แล้วการที่พรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นสถาบันทางการเมือง จะพูดถึงเรื่องการเมือง ก็ต้องย่อมเป็นเรื่องปกติ

คำสั่งดังกล่าวนี้ จึงดูขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในแง่มุมว่า ไม่ชัดเจนและคลุมเครือ ซึ่งการจะจำกัดสิทธิต้องแคบและเจาะจง จึงจำเป็นต้องทบทวน

อีกทั้งยังทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ทำไมช่วงหลังของการออกกฎหมายข้อห้ามในการสื่อสาร โดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางโซเชี่ยลจึงถูกควบคุมมากขึ้น โดยลงไปอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ทั้งที่มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างกว้างขวางเกินความจำเป็นอยู่แล้วในมาตรา 14

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับคำสั่งคสช.มาตรา 44 จะยิ่งทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะกรณีห้ามโซเชี่ยลยังไม่เคยมีบรรทัดฐาน หากไร้นิยามหรือข้อกำหนด ถ้อยความกว้างๆในข้อ 6 ก็ไม่อาจมีใครรู้ได้ว่า จะนำไปสู่การตีความหรือใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยกันอย่างไร

การดำเนินการของพรรคการเมืองตลอดช่วงเวลาคลายล็อก 90 วัน อาจดำเนินไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ในช่วงนี้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า สิ่งที่ทำไปนั้น จะถูกหยิบยกไปสู่การร้องเรียนเมื่อไร อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง หรือหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ในปี 2562 ก็ได้

เพราะต้องห้ามลืมว่า คำสั่งที่ 53/2560 ที่สืบเนื่องกับคำสั่งที่ 13/2561 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

2.ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

แน่นอนว่าต้องไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว กับการห้ามใช้โซเชี่ยลในการหาเสียง เพราะโดยทั่วไปการหาเสียงเลือกตั้งจะต้องทำได้แล้ว เนื่องจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนก.พ. ปีหน้า ทำให้ขณะนี้เวลาเหลือไม่มากแล้ว

โดยปกติพรรคการเมืองจะต้องหาเสียง หาสมาชิกพรรค และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่แล้ว ถ้าห้ามจะเท่ากับปิดโอกาสการทำงานของพรรคการเมือง รวมถึงลดการมีส่วนร่วมของประชาชน

แทนที่พรรคการเมืองจะได้สื่อสารกับประชาชน ก็ต้องมาติดเงื่อนไขตรงนี้ ทำให้พรรคการเมืองทำงานได้ยาก ซึ่งกระทบกับการรับรู้ของประชาชนต่อนโยบายของพรรคการเมือง ที่จะนำไปใช้ตัดสินใจในการเลือกผู้แทนในการเลือกตั้งด้วย

ปัญหาคือวันนี้ทุกพรรคใช้โซเชี่ยลทำการเคลื่อนไหวกันทั้งหมด ทั้งการนำเสนอแนวคิด อุดมการณ์ และเชิญชวนให้คนมาเป็นสมาชิกพรรค แต่กลับมีความไม่ชัดเจนเรื่องของคำสั่งห้าม ที่เป็นการห้ามแบบกว้างๆ ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้บ้าง เช่น นักการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กแล้วมีคนนำไปแชร์ต่อ จะเข้าข่ายการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

ดังนั้น การกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่าง กว้างๆ จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ และผู้มีอำนาจในการตีความได้

กกต.ต้องหารือกับคสช.ว่าการห้ามหาเสียงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้ว เพราะทุกอย่างเดินหน้าสู่การเลือกตั้งแล้ว ควรเปิดพื้นที่ให้สิทธิ เสรีภาพ ในการนำเสนอนโยบายแก่ประชาชนอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีของการหาเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

และแม้ว่าคำสั่งคสช.จะไม่ชัดเจนแต่เมื่อยังมีโอกาสในการตีความ กกต.ควรเชิญชวนคนที่มีส่วนได้เสียมาทำความเข้าใจร่วมกัน

ส่วนเพจสนับสนุนรัฐบาลนั้น มองว่าเป็นความตั้งใจในการสร้างความได้เปรียบให้ กับตัวเองอยู่แล้ว ถ้าคสช.ตั้งใจจริงให้การ เลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม การปลดล็อกถือว่าทำได้ง่ายมากอยู่แล้ว

แต่การคลายล็อกแค่บางส่วนย่อมสะท้อนว่าเป็นความตั้งใจที่จะสร้างความได้เปรียบ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเขาจะลงมาเป็นผู้เล่น

3.ภุชงค์ นุตราวงศ์

อดีตเลขาธิการกกต.

ที่ผ่านมาการหาเสียงเลือกตั้งคือการไม่ทำให้คนอื่นเสียหาย แต่ในกรณีห้ามหาเสียงทางโซเชี่ยลนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะควบคุม หรือกำหนดว่าอย่างไรที่จะไปกระทบสิทธิ์ของผู้อื่นและก่อเกิดความเสียหาย

เชื่อว่าสำนักงาน กกต.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีรายละเอียดมากจึงต้องเอาหลักการออกมาก่อนว่าจะห้ามอะไรบ้าง แล้วเขียนเป็นระเบียบออกตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้สอดคล้องว่าสิ่งไหนทำแล้วผิดสิ่งไหนทำแล้วไม่ผิด

กฎหมายเลือกตั้งปี 2545 และปี 2550 มีการกำหนดว่าวิธีการไว้ว่าอะไรทำได้บ้าง แต่การกำหนดนั้นต้องมีหลักการให้ความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายผู้สมัคร ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ส่วนนโยบายเป็นการเสนอประชาชนว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไร ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่

การหาเสียงต้องทำอย่างไรให้คนเชื่อถือผู้สมัครและพรรค ใครมีสิ่งดีๆ ก็เอามาแสดง แต่ถ้าสิ่งที่เอามาแสดงไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ

การหาเสียงไม่ใช่เรื่องนโยบายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลด้วย การหาเสียงก็จะมาพร้อมกันทั้งนโยบาย พรรค และตัวบุคคล

อย่างไรก็ตาม การจะหาเสียงได้ต้องมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก่อน ถ้าเป็นการเลือกตั้งครบวาระจะให้หาเสียง 60 วัน ถ้าเป็นการเลือกตั้งที่ยุบกฎหมายเดิมก็ให้การ หาเสียง 45 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอแล้วในการที่จะบอกเล่ากับประชาชนให้ทราบถึงนโยบายต่างๆ

แต่ตอนนี้พรรคการเมืองอาจจะมองว่าไม่มีการเลือกตั้งมานานแล้ว และมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น ยังไม่ได้บอกเล่านโยบายให้ประชาชนทราบ

ดังนั้น ตอนนี้ทางกกต.ควรยกร่างระเบียบวิธีการหาเสียงที่ขณะนี้ไม่ใช่เป็นการหาเสียงแบบธรรมดาเพียงอย่างเดียว แต่มีทางโซเชี่ยลด้วย เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เมื่อกกต.ร่างระเบียบดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะใช้บังคับใช้ คสช.และกกต.ควรมีการหารือกันก่อนว่าจะมีการใช้บังคับได้มากน้อย แค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการผ่อนผัน

4.ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การที่ คสช.มีคำสั่งคลายล็อกให้กับพรรคการเมือง มองว่าไม่ได้เป็นการให้สิทธิเสรีภาพกับพรรคการเมือง นักการเมืองรวมถึงประชาชน แต่เป็นเพียงการออกคำสั่งเพื่อยกเว้นข้อบังคับบางประการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น เช่น เรื่องการทำไพรมารีโหวต เป็นต้น โดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพรรคการเมืองและประชาชนอย่างแท้จริง

เรื่องนี้จะสะท้อนต่อไปอีกว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแน่หรือ แต่ขณะนี้กลับแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช.

ส่วนที่ คสช.ห้ามให้พรรคการเมืองใช้ โซเชี่ยลในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรเป็นข้อห้าม เพราะการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง สิ่งสำคัญ คือเรื่องการสื่อสารกันระหว่างพรรคการเมืองและประชาชน ซึ่งปัจจุบันโซเชียลถือเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งกระจายข้อมูลข่าวสารที่สำคัญๆ

หาก คสช.ห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชี่ยลในการสื่อสาร หรือประชาสัมพันธ์นโยบายต่างๆ เท่ากับว่าคสช.และรัฐบาลกำลังปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเสียเอง รวมทั้งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของ คสช.

เป็นความกลัวที่ว่าฝ่ายตรงข้ามหรือพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน คสช.จะมีคะแนนเสียงหรือได้รับคะแนนนิยมมากกว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.หรือไม่

รัฐบาลเองก็มีเพจที่สนับสนุนรัฐบาล หรือแม้แต่การให้ศิลปินดารานักร้องที่มีชื่อเสียง มาช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ แต่รัฐบาลกลับห้ามให้คนอื่นทำในสิ่งที่รัฐบาลก็ทำ ถือเป็นเรื่องแปลก

ส่วนพรรคการเมืองเองย่อมจะได้รับผล กระทบ โดยเฉพาะในเรื่องการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกไปจนถึงการประชาสัมพันธ์นโยบาย รัฐบาลมีกฎหมายในการควบคุมการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จอยู่แล้ว จึงไม่ควรออกข้อห้ามในลักษณะนี้ และไม่ควรออกข้อห้ามดังกล่าวมาตั้งแต่แรก

ในเมื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคสช.มักบอกให้ประชาชนคิดให้ดีๆ ให้เลือกคนดีๆ เวลาเลือกตั้ง แต่กลับเป็นฝ่ายปิดกั้นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบของประชาชนเสียเองหรือไม่ รัฐบาลและคสช.กำลังสร้างกฎที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อใกล้จะถึงการเลือกตั้งตามโรดแม็ป คือช่วงต้นปี 2562 คสช.ควรต้องเริ่มถอยออกจากระบบ เริ่มยุติบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อย่าพยายามทำอะไร เช่น การออกประกาศหรือคำสั่ง คสช.เพิ่มเติม และควรยกเลิกการใช้อำนาจพิเศษอย่างการใช้มาตรา 44 ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน