“รายงานพิเศษ”

การใช้ มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.13/2561 คลายล็อกให้พรรคการเมือง กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่า ข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกมานั้นผ่อนคลายหรือเพิ่มเงื่อนไข

ในมุมมองจากนักการเมืองเห็นว่ายิ่งทำให้พรรคการเมืองขยับได้ยากขึ้น และเอื้อประโยชน์พรรคใหม่

และกังวลว่ากกต.จะดำเนินการทันหรือไม่

ในความเห็นนักวิชาการคิดเหมือนหรือต่างออกไป

1.โคทม อารียา

นักวิชาการด้านสันติวิธี อดีตกกต.

ควรปลดล็อกไม่ใช่แค่คลายล็อก ปลดล็อกหมายถึงการคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน ควรยกเลิกคำสั่งที่ 3/2558 ที่เอามาแทนกฎอัยการศึก เพราะประชาชนอยู่กับสิ่งที่คล้ายกับกฎอัยการศึกมาเป็นเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ทำไมต้องมีกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนยาวนานขนาดนี้

การคลายล็อกให้นักการเมือง คล้ายกับแก้ไขพ.ร.ป. พรรค การเมือง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ออกกฎหมายมายังไม่ได้ใช้เลยแต่แก้แล้ว ส่วนหนึ่งเพื่อความสะดวกของพรรคการเมืองแต่กลับไปปิดกั้นตั้งแต่ต้น ถ้าปล่อยให้พ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นไปตามเดิมตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องมาแก้อีก

เสียดายที่สนช.อุตส่าห์คิดเรื่องไพรมารีโหวตแล้วทำไม เปลี่ยนใจ คล้ายกับว่าคสช.ที่เป็นตัวแม่ของแม่น้ำ 5 สาย ไม่ชอบใจการทำงานของสนช.ที่เป็นสายย่อย

คำสั่งคลายล็อกครั้งนี้มีสับสนอยู่ข้อเดียวเป็นข้อหลักคือเรื่องการหาเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพราะพรรคการเมืองยังต้องใช้สื่อประชาสัมพันธ์เชิญคนมาเป็นสมาชิกพรรค

กฎหมายเขียนไว้ให้ประชาชนเข้ามาร่วมกัน เราดูนโยบายของพรรคเพื่อตัดสินใจ แต่ไม่บอกใครว่ามีนโยบายอย่างไรแล้วจะเชิญใครมา เป็นสมาชิกได้ ก็จะได้แค่เพื่อนๆ ถ้าได้เป็นคนออกคำสั่งนี้จะกำหนดออกมาให้ชัดเจนกว่านี้

ที่นักการเมืองมองว่าคำสั่งนี้ไม่ได้เป็นการคลายล็อกเพราะในทางปฏิบัติทำได้ยากนั้น อย่างที่บอกต้องออกมาให้ชัดเจนและต้องไม่เลือกปฏิบัติ จะแค่ไหนก็เอาแค่นั้น ไม่ใช่กลุ่มหนึ่งคลายล็อกได้อีกกลุ่ม ไม่คลายเลยก็เป็นการเลือกปฏิบัติ

ส่วนที่มองว่ามาตรการที่ประกาศออกมาเป็นการเอื้อพรรคใหม่ก็อย่าไปคิดอย่างนั้นเลย กฎหมายออกมาอย่างไรก็ปฏิบัติกันไปจะเอื้อบ้างไม่เอื้อบ้าง สมมุติว่ากติกาออกมาแล้วทำให้นักมวยถนัดซ้ายได้เปรียบเราก็หานักมวยที่ถนัดซ้ายมาแข่งก็ไม่เสียเปรียบแล้ว และพรรคการเมืองก็หาวิธีปฏิบัติที่ได้ประโยชน์และสอดคล้องกับคำสั่ง

ส่วนการทำงานของกกต.แน่นอนก็ต้องรับปัญหาหนัก แต่ไม่น่าเป็นห่วง ปล่อยให้แสดงฝีมือไป แม้จะเป็นกกต.ชุดใหม่ก็ตาม แต่กกต.มีสำนักงานที่ตั้งมาแล้ว 20 กว่าปีจึงไม่น่าเป็นห่วง ถ้าจะห่วงควรห่วงตั้งแต่มี กกต.ชุดแรกแล้ว

อย่างไรก็ตามต้องดูกันต่อไป เชื่อว่าจะไม่เกิดความสับสน เพราะถ้าจะเกิดปัญหาก็แค่เรื่องของวิธีการหาเสียงขอให้ชัดเจนกว่านี้

2.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ช่วยอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์

ผลการดำเนินการตามคำสั่งคสช.ที่ 13/2561 ที่สืบเนื่องจาก คำสั่งที่ 53/2560 เกี่ยวกับการคลายล็อกให้พรรคการเมือง เตรียมพร้อมภายใน 90 วันก่อนพ.ร.ป. เลือกตั้งส.ส.บังคับใช้ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 24 ก.พ.- 5 พ.ค. ตามกรอบเวลา 150 วันนั้น

แต่ละพรรคจะมีผลกระทบแตกต่างกันไป ในแง่พรรคเก่าประเมินว่าจะได้รับผล กระทบน้อยที่สุด เพราะพรรคมีชื่อเสียง ต่อเนื่องมานาน อยู่ในกระแสรับรู้ของผู้คน ตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคหรืออดีตส.ส. ประชาชนรับรู้มากกว่า

การหาสมาชิกหรือทุนประเดิมเพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ใช่เรื่องยาก ความนิยมของพรรคเหล่านี้ยังมีอยู่ พิสูจน์ได้จากเม.ย.ที่ผ่านมาที่เปิดให้มีการยืนยันสมาชิกของพรรคเก่า ผลที่ออกมาหลายพรรคก็ยืนยันสมาชิกได้จำนวนหนึ่งตามเกณฑ์ที่กฎหมายใหม่วางไว้

ส่วนพรรคใหม่ที่ยื่นจัดตั้งก็ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ พรรคใหม่ที่เกิดจากนักการเมืองหน้าเก่าที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วก็ไม่น่ามีปัญหาเรื่องงานทะเบียนสมาชิก เนื่องจากโครงข่ายเดิมของนักการเมืองเหล่านี้มีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครที่ลงพื้นที่ต่อเนื่องก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องยาก

ทว่าพรรคใหม่อีกแบบคือ พรรคที่เกิดจากการรวมตัวของ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง หรือมีประสบการณ์แต่ก็ไม่อยู่ในการรับรู้ของประชาชน ซึ่งมีมากมาย 70-80 พรรคจะทำอย่างไรในการหาสมาชิกและจัดตั้งสาขาพรรคให้ถึงเป้าที่วางไว้

การหาสมาชิกถือเป็นเรื่องยาก เพียงแค่พรรคไปแนะนำตัว หรือมีการปรับลดค่าสมาชิกจาก 100 บาท เหลือ 50 บาท ก็คงไม่อาจจูงใจทำให้หาสมาชิกได้ง่ายขึ้นเลย

การจะนำเสนอให้ประชาชนเข้าร่วมสมัครสมาชิกจำเป็นต้องมีการพูดถึงแนวนโยบาย หรือทิศทางจุดยืนของพรรคนั้นด้วย แต่ก็จะไปติดเงื่อนไข ที่คสช.ห้ามหาเสียงอีก โดยเฉพาะเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชี่ยล

ทว่าพรรคใหม่ที่จะเจออุปสรรคเรื่องนี้ไม่นับรวมพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่เกิดกระแสตอบรับดีจากสังคม เรื่องงานทะเบียนนี้ ไม่น่าเป็นอุปสรรค

สำหรับแนวทางสรรหาผู้สมัครผ่านคณะกรรมการสรรหา 11 คน ที่มาจากกก.บห.พรรค 4 คน กับ 7 คนจากหัวหน้าสาขาและสมาชิกพรรค ไม่อาจเรียกว่าไพรมารีโหวตได้ ภาพรวมการกำหนดบุคคลลงส.ส.จะขึ้นกับพรรคเป็นหลัก เหมือนเลือกตั้งที่ผ่านมา

เพียงแต่เพิ่มเติมกระบวนการรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมจากสมาชิกให้มากขึ้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับพรรคใหม่ที่จะประสบปัญหาเรื่องสมาชิกและสาขาพรรคด้วย

การปรับเกณฑ์การสรรหาผู้สมัคร ส.ส.แบบนี้ยังไม่นำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่ควรจะเป็น เปรียบเสมือนเป็นเพียงการเร่งโต รากของพรรคไม่อาจหยั่งลงพื้นดินได้

การเลือกตั้งครั้งถัดจากนี้ถึงจะเป็นความหวังทางการเมืองเพราะต้องทำ ไพรมารีโหวตตามที่กำหนดไว้ในบทหลักของพ.ร.ป. พรรคการเมือง

ภาพรวมมองว่าการคลายล็อกงดเว้นไพรมารีโหวตครั้งนี้เกิดจากเงื่อนเวลา การดำเนินการที่ไม่อาจทำได้ทัน ส่วนความได้เปรียบเสียเปรียบนั้นมองว่าพรรคเก่าก็ยังคงความได้เปรียบมากกว่า พรรคใหม่ เพราะอยู่ในการรับรู้ของประชาชนมากกว่า

3.ไชยันต์ รัชชกูล

คณะรัฐศาสตร์ ม.พะเยา

คำสั่งมาตรา 44 ที่บอกกันว่าเป็นการคลายล็อกให้กับพรรคการเมืองนั้น มองว่าจากคำสั่งถือว่าคลายล็อกไปได้เยอะเลย แม้จะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ช่วยให้พรรคการเมืองเริ่ม ขยับตัว และประชุมพรรคได้

เพราะหากดูปฏิทินการทำงานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พรรค การเมืองมีกระบวนการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับสมัครสมาชิกพรรค การประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค การส่งผู้สมัครและอื่นๆอีกมาก

โดยที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาการดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่เดือนก.ย.แล้ว ทุกอย่างจึงดูตึงไปหมด พรรค การเมืองเองต้องพยายามปฏิบัติตาม แต่ก็ถือว่าอย่างน้อยคำสั่งดังกล่าวเป็นจุดเริ่มที่ให้พรรคการเมืองเริ่มขยับได้ ดีกว่าไม่มีการคลายล็อกเลย

อย่างไรก็ตาม แม้มีการคลายล็อกบ้างแล้วแต่ในส่วนของประเด็นการห้ามหาเสียงเป็นปัญหาในระดับหนึ่ง เพราะไม่ใช่เฉพาะห้ามหาเสียงผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย แต่หมาย รวมถึงการหาเสียงทั่วไปก็ไม่สามารถทำได้

อีกทั้งยังเกิดความสับสนว่าการดำเนินการแบบไหนจะเข้าข่ายการการหาเสียงหรือไม่ อีกด้วย ประเด็นดังกล่าวสะท้อนว่าตลอดเวลา 4 ปี ที่คสช.บริหารบ้านเมือง ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ ต้องถามกลับไปว่ากลัวอะไร

แม้ส่วนตัวเห็นด้วยกับการคลายล็อกให้พรรคการเมืองแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการห้ามหาเสียง เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจยังคงมีความกลัวเรื่องของความไม่สงบ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนประสิทธิภาพของรัฐบาลเอง

ส่วนประเด็นไพรมารีโหวตที่เปลี่ยนมาเป็นคณะกรรมการ 11 คน จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคเก่ากับพรรคใหม่หรือไม่นั้น ไม่แน่ใจ แต่เห็นว่าทุกพรรคน่าจะมีโอกาสเท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสามารถเชิงบริหารจัดการของแต่ละพรรคมากกว่า

ขณะที่การทำงานของกกต.ที่ดูว่าจะมีงานมาก ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้งานเอกสารจะมหาศาลแต่เชื่อว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของกกต.เพราะน่าจะจัดการได้

ส่วนงานด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาการซื้อขายเสียง ส่วนตัวเชื่อว่าจะลดลงเพราะ ทุกพรรคกลัว โดยเฉพาะพรรคที่ตกเป็น เป้าหมายซึ่งจะช่วยให้งานในส่วนนี้ของ กกต.น้อยลงด้วย

4.ยุทธพร อิสรชัย

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

โดยส่วนตัวมองว่า คำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 มีส่วนดี อย่างน้อยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เส้นทางการเลือกตั้งที่ชัดเจนขึ้นภายหลังจากที่ พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.และพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.มีผลบังคับใช้ และสอดรับกับที่กกต.ได้ประกาศช่วงเวลาของการเลือกตั้ง คือวันที่ 24 ก.พ.62 ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องที่ทำให้เกิดปัญหาการตีความ เช่น การห้ามใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียหาเสียงว่าขอบเขตมากน้อยเพียงใด อย่างไร ข้อห้ามดังกล่าวอาจเป็นข้อกังวลใจสำหรับพรรคการเมือง และอาจกลายเป็นประเด็นในทางการเมืองได้

ขณะที่กฎหมายพรรคการเมืองล่าสุดมีประเด็นเรื่องบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง หากพรรคใดถูกร้องเรื่องหาเสียงผ่านโซเชี่ยลมีเดียก็อาจถูกลงโทษถึงขั้นโดนยุบพรรคได้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

เรื่องเหล่านี้อาจนำมาซึ่งความวุ่นวายในภายหลัง ได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ อย่าให้ต้องเกิดการตีความ

ส่วนที่พรรคเดิมมองว่าคำสั่งดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้พรรคตั้งใหม่ เช่น การทำไพรมารีโหวตนั้นคงไม่ได้เอื้อประโยชน์อะไร เพราะ คำสั่งนี้ให้งดเว้นการทำไพรมารีโหวตใน ครั้งแรก ค่อยไปเริ่มในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ขณะที่กกต.ควรศึกษากระบวนการดังกล่าวว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรเพื่อเตรียมหาทางออกใน การแก้ไขปัญหา มองว่าทางออกไพรมารีโหวต ควรทำเป็นระบบเปิด ซึ่งแตกต่างจากที่สนช.เคยเสนอให้ทำแบบระบบปิด

เพราะระบบปิดจะทำให้การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคลดน้อยลงไป แต่แบบเปิดจะช่วยให้สมาชิกรวมทั้งคนทั่วไปมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเลือกผู้สมัครด้วย แต่อาจมีจุดอ่อน เช่น อาจเกิดการทุ่มคะแนนเสียงเลือกคนที่อ่อนกว่ามาแข่งกับคนที่แข็งในพื้นที่อยู่แล้ว เป็นต้น

ที่มองว่าคำสั่งคสช.ที่ 13/2561 ไม่ได้ช่วยคลายล็อกให้พรรคการเมืองแต่สร้างความสับสนในทางปฏิบัตินั้น คำสั่งดังกล่าวเหมือนเกาไม่ถูกที่คัน สิ่งสำคัญคือการเปิดให้ทุกพรรคหรือกลุ่มการเมืองลงพื้นที่พบปะประชาชนได้อย่างอิสระ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

สิ่งที่คสช.ต้องแก้ให้ถูกจุดคือเมื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ป ต้องไม่ให้ข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือปัญหาอุปสรรคที่พรรค การเมืองเสนอแนะอยู่ในขณะนี้กลายเป็น ปมปัญหาในอนาคตว่าทำให้ใครต้องแพ้ เลือกตั้งเพราะปัญหาเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมาได้อีกในอนาคต

รัฐบาลและคสช.ต้องทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นประตูที่จะออกไปจากความขัดแย้ง ต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับตั้งแต่ต้นทางให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน