หลังพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา สัญญาณการเลือกตั้งก็เริ่มมีความชัดเจน แม้ฉบับแรกจะต้องรอครบ 90 วันถึงจะมีผลก็ตาม

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 ที่ผ่อนคลาย ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมบางอย่างได้ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าเตรียมการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักมาถึง 4 ปี

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เชิญพรรคการเมืองรวม 74 พรรค และกลุ่มการเมืองที่ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง และกลุ่มที่ยื่นแล้วแต่อยู่ระหว่างรอการรับรองอีก 118 กลุ่มมาหารือ

เป็นก้าวที่จะเดินเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างแท้จริง

แต่น่าเสียดายที่คสช.ยังคงประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และห้ามพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองหาเสียง ไม่เว้นในสังคมออนไลน์ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผ่อนคลายไม่สุด

สังคมประชาธิปไตยนั้น การสื่อสาร พูดคุย โต้แย้ง และการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสงบ ย่อมดำเนินไปด้วยกัน การบังคับห้ามจึงเป็นความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

แม้รัฐบาลจะบอกการผ่อนคลายข้อห้ามต่างๆ รวมถึงการคืนสิทธิเสรีภาพ จะต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่เมื่อมีเป้าหมายจะก้าวไปสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงไม่เป็นเหตุผลที่จะนำมากล่าวอ้าง

กลับไปใช้กฎหมายปกติจึงต้องทำโดยเร็ว

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองนั้น เป็นที่ครหาว่ามีความลักลั่นกันอยู่ พรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกจับจ้อง และขัดขวาง ขณะที่กลุ่มการเมืองที่ตั้งเพื่อสนับสนุนกลับดำเนินการได้

ที่ผ่านมารัฐบาลลงพื้นที่และผ่านงบประมาณจำนวนมากในนามการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงท้าย ยิ่งเกิดคำถาม จนต้องคอยตอบโต้ว่าไม่ได้ใช้ทรัพยากรของประเทศ เพื่อหวังผลทางการเมืองแต่อย่างใด

หากรวมถึงการแสดงออก และการพูดจากับประชาชน แนะให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เลือกคนอย่างนั้นอย่างนี้ ถือเป็นการชี้นำหรือไม่ ทำไมอีกฝ่ายถึงไม่สามารถทำได้ ทำให้เกิดความ เสียเปรียบได้เปรียบหรือไม่

การเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเท่านั้น จะทำให้การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน