ความเคลื่อนไหวปูทางสู่การเลือกตั้งเริ่มชัดเจนขึ้นในฝั่งของผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีประกาศจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ระบุว่าแต่ละจังหวัดพึงมีเท่าใด และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

การจัดแจ้งดังกล่าวทำไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่ให้มีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน

ขั้นตอนจากนี้ไปกำหนดให้ผู้อำนวยการกกต.จังหวัดแบ่งเขตแต่ละจังหวัดตามจำนวนส.ส. ในสามรูปแบบ ภายใน 14 วัน และภายใน 10 วันจึงรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชน

นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์การทำงานของ กกต. ว่าเมื่อรับฟังแล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติหรือไม่

ข้อมูลที่เห็นเด่นชัดในการจัดสัดส่วนตาม จำนวนส.ส.ตามรายจังหวัดที่ลดลง จาก 375 คนเหลือ 350 คน ซึ่งจำนวนการลดไม่เท่ากันในแต่ละภาค

ภาคอีสานเดิมมีส.ส. 126 คน ลดเหลือ 116 คน หายไปถึง 10 คน สูงที่สุดในการลดจำนวนครั้งนี้ ตามด้วยภาคกลางลดหายไปมากเช่นกัน เดิมมีส.ส. 82 คน ลดเหลือ 76 คน

ส่วนภาคเหนือเดิมมีส.ส. 36 คน ลดเหลือ 33 คน ภาคใต้เดิมมีส.ส. 53 คน ลดเหลือ 50 คน และกรุงเทพมหานคร เดิมมีส.ส. 33 คน ลดเหลือ 30 คน เฉลี่ยแล้ว 3 พื้นที่นี้หายไปภาคละ 3 คน

ภาคที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงคือ ภาคตะวันออกมีส.ส. 26 คน และภาคตะวันตกมีส.ส. 19 คน เท่าเดิม

การลดจำนวนผู้แทนประชาชนลงเป็นเรื่องที่ควรชี้แจงเหตุผลประกอบให้กระจ่างแจ้ง นอกเหนือไปจากการแจ้งเพียงว่าทำตามกรอบรัฐธรรมนูญ

เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากทราบคือเหตุใดพื้นที่นั้นๆ จึงลดได้เท่านั้นเท่านี้ เป็นเพราะความหนาแน่นทางประชากร หรือสถานะทางเศรษฐกิจ หรือการชิงความได้เปรียบในพื้นที่ภาคทางการเมือง

จากเดิมภาคอีสานเป็นพื้นที่ใหญ่และมีส่วนสำคัญมากในการตัดสินเสียงส่วนใหญ่ แต่การลดลงครั้งนี้มีที่มาจากการลดจำนวนประชากรหรือไม่

ยิ่งเมื่อผู้นำประเทศย้ำว่า พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดควรได้รับสิทธิให้จัดตั้งรัฐบาล การปรับเปลี่ยนใดๆ ก็ตามควรมีคำอธิบายที่ชัดแจ้งว่า จะไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบแก่พรรคใดพรรคหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน