ถ้าตู่ติดกับ

ใบตองแห้ง

ไม่ทันข้ามวันหลังท่านผู้นำประกาศ “สนใจการเมือง” เพจช่องวันเปิดโหวต “เลือก-ไม่เลือก” ใน 24 ชั่วโมง มีคนโหวตล้นหลาม 350,000 คน ผลออกมาน่าสยอง ไม่อยากบอก สำนักข่าวอื่นทำบ้าง ก็ได้เปอร์เซ็นต์ไล่เลี่ยกัน จนบางช่องต้องเปลี่ยนวิธีการ ให้โหวตผ่านหน้าจอด้วย SMS ครั้งนี้ยิ้มได้ ชนะถล่มทลาย 93% จาก 6 พันกว่าคน

ก็อาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มเป้าหมายต่างกันสิ้นเชิง ไม่สามารถชี้วัดอะไร แบบเดียวกับโพล มช. ผลออกมาขำๆ เนติวิทย์ยังชนะเจ๊ปู ซึ่งคะแนนเท่าลุงตู่พอดี นิด้าโพลก็ไม่รู้หลอกให้ใครดีใจหรือเปล่า ลุงนำโด่งเกือบ 30% แต่พรรคที่หนึ่งกลับเป็นเพื่อไทย ถ้ารวมอนาคตใหม่พุ่งไปถึง 45%

การเลือกตั้งยังไม่เริ่ม ยังไม่เห็นตัวเลือกชัดเจน ยังเก็งไม่ได้หรอกใครชนะ แต่พูดได้ว่า เลือกตั้งครั้งนี้เก็งยาก เพราะคนไทยไม่ได้เลือกตั้งนาน 8 ปี ทุกอย่างเปลี่ยนเยอะมากจากปี 54 ทั้งกติกาใหม่ บัตรใบเดียว พรรคการเมืองใหม่ ผู้เล่นใหม่ แบบลุงนี่ไง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็มีคนรุ่นใหม่ 7 ล้านคน แถมสังคมยังเปลี่ยนสู่ยุคออนไลน์

แต่นักการเมืองทั้งหลายก็เต็มใจจะเสี่ยง เพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีอะไรให้เสียมากไปกว่านี้ คำถามคือท่านผู้นำล่ะ การลงทุนมีความเสี่ยง ท่านพร้อมจะเสี่ยงไหม ถ้าแพ้แล้วจะ เสียอะไร

แน่ละ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน 6 ผบ.เหล่าทัพนั่งควบกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระตั้งไปจาก สนช.ชุดนี้ กลไกต่างๆ ที่พร้อมจะจัดการนักการเมือง เป็นเสมือนใบรับประกันขั้นต้น ว่านักการเมืองไม่มีทางเป็นรัฐบาลได้ โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่พึงปรารถนา

ใบรับประกันนี้ ยังเป็นเครื่องมือหาเสียงทางอ้อมด้วยว่า ถ้าไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย ถ้าไม่อยากให้เศรษฐกิจพินาศฉิบหาย ก็อย่าเลือกไอ้พวกนี้เข้ามา

มิพักต้องพูดถึงว่า นี่เป็นการเลือกตั้งใต้ ม.44 ที่ คสช.มีอำนาจเหนือ กกต. ที่ทหาร ตำรวจ กอ.รมน. ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังรักษาความสงบ พร้อมกับขับเคลื่อนประชารัฐไทยนิยมทุกพื้นที่

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีช่องว่าง ในเมื่อการไปต่อ ยังต้องอิงความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องยอมให้มีการแข่งขัน ช่วงชิงความนิยม ดีเบต ทำโพล วัดคะแนนเสียง

ถ้าไม่ลงแข่งขัน อย่างยุคป๋าเปรม รอให้พรรคการเมืองไปเชิญ ก็ไม่ต้องวัดความนิยมกับใคร แต่นี่ เมื่อเอาตัวเองลงไปแข่ง นอกจากลงไปเสี่ยง ยังจะถูกจ้องจับว่า เอาเปรียบคนอื่นในฐานะผู้อยู่เหนือกติกาหรือเปล่า

ความเสี่ยงของท่านผู้นำมี 3 ด่านพร้อมกันคือ หนึ่ง ถ้าท่านลงสนาม โดยยอมให้พรรคการเมือง สมมติเช่นพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ 1 ใน 3 โดยไม่ต้องลาออก ต่อให้ได้เปรียบทุกอย่าง พรรคนั้นจะฝ่าฟันได้คะแนนเสียงเท่าใด ถึงจะพอไม่อายหน้า สามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการเลือกตั้งที่บอกแล้วว่าเก็งยาก อย่างน้อยก็แข่งกัน 3 ก๊กกับสองพรรคใหญ่

สอง เมื่อท่านกลายเป็นแคนดิเดต จะปฏิเสธการเปรียบเทียบได้อย่างไร ต่อให้ไม่ยอมดีเบต สังคมก็จะดีเบตโดยปริยาย เลือกไม่เลือกลุงตู่ อยู่มาสี่ปีมีข้อดีข้อเสียแค่ไหน ฯลฯ เข้าใจตรงกันนะ ถึงจะเลือกตั้งใต้ ม.44 บรรยากาศก็ไม่เหมือนสี่ปี ที่ทุกคนเก็บปากเก็บคำ บรรยากาศเลือกตั้งจะเป็นเสมือนปลาอานนท์พลิกตัว ความอัดอั้นจะทะลักถล่มทลาย จะเอาคนเข้าค่ายปรับทัศนคติก็คงไม่หวาดไม่ไหว

ถ้าใช้อำนาจปิดกั้นก็เข้าข้อสาม เอาเปรียบกันหรือเปล่า เป็นแคนดิเดตทำไมวิจารณ์ไม่ได้ พรรคที่ท่านจะไปแปะชื่อ หาเสียงพลังดูดเอาเปรียบคนอื่นไหม ทำไมจู่ๆ ใช้ ม.44 ตั้งสนธยา คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยา ฯลฯ

นี่ยังแค่เริ่มต้น เดี๋ยวจะมาอีกเพียบ คนจ้องจับอีกเยอะ พูดง่ายๆ ทันใดที่ลุงตู่ประกาศ “สนใจการเมือง” ก็กลายเป็นตู่ล่อเป้า นับแต่นี้ถึงธันวาฯยังเป็นแค่ยกชิมลาง หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาถ้าท่านเอาจริง จะเป็นวาระรุมบ้อม ซ้ายขวาหน้าหลัง จากทุกฝ่ายที่จองกฐินมานาน

จะบอกว่าคิดผิดคิดใหม่ก็ไม่ได้ เพราะลุงป้อมบอกแล้ว กลัวรัฐประหารเสียของ จำเป็นต้องเสี่ยง ด้วยเดิมพันที่สูงมาก ถ้าสืบทอดอำนาจไม่ได้ ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ก็รวนทั้งพวง หรือถ้าชนะแบบบอบช้ำ ชนะแบบถูกครหา ไม่สง่างาม ก็ไปต่อลำบาก

ดูดีๆ นี่ก็เหมือนหลุม หรือกับดัก ที่รู้ชัดๆ ว่าเสี่ยง แต่ต้องโดดลงไป

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน