การต่อรองระหว่าง “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “กลุ่มสามมิตร”เป็นเรื่องปกติเมื่อเลือกที่จะใช้กลยุทธ์”พลังดูด”เป็น “รายรับ”

เมื่อบทบาทในลักษณะของ”หนังหน้าไฟ”เป็นของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประสานเข้ากับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นี่แหละคือ “รายจ่าย”

ไม่ได้หมายความว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค หรือ นายสนธิรัตน์ สนธิรัตน์ เลขาธิการพรรค จะทำอะไรได้ตามใจ

ตรงกันข้าม ยังต้อง”ล้างหู”ฟังเสียงจาก “กลุ่มสามมิตร”ด้วย

จังหวะก้าวต่อไปก็คือ ตำแหน่งสำหรับแกนนำจาก”กลุ่มสาม มิตร” และบทบาทในการคัดสรร”ผู้สมัคร”

ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงเบาะ-เบาะ และ เบา-เบา

คาดว่า นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ คงรู้อยู่แล้วว่าที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่านี้อยู่ตรงไหน

อยู่ตรง “ก่อน” และ “ระหว่าง”เลือกตั้ง

เพราะละอ่อนอย่าง นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ต้องเปิดทางให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แสดงบทบาทอย่างเต็มที่

ในฐานะ “รุ่นพี่”ผู้มากด้วยความเจนจัดบนสนาม”การเมือง”

แต่ที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่านั้นยังอยู่ที่เมื่อผลของการเลือกตั้งปรากฏออกมา

หากพ่ายแพ้อย่างหมดรูปก็ทางใครทางมัน

แต่ถ้าหากได้รับชัยชนะ และเป็นชัยชนะในเส้นทางที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้กำหนด นั่นหมายถึงอำนาจการต่อรองย่อมสูงขึ้นไปด้วย

การจัดสรรคนลงไปในแต่ละกระทรวง แต่ละตำแหน่งย่อมต้องฟังเสียงจาก 2 คนนี้เป็นสำคัญจะชี้ต้นก็ตาย จะชี้ปลายก็เป็น

ต่อให้มีมาตรา 44 อยู่ในมือ อำนาจการต่อรองก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนมือที่จะยกแสดงการสนับสนุน

บรรดาเกจิทางการเมืองจึงสรุปตรงกันว่า นับแต่การประชุมพรรค พลังประชารัฐเมื่อวันที่ 29 กันยายน เป็นต้นไปการเมืองก็จะเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นลำดับที่คิดว่าใหญ่ ก็ไม่แน่ว่าใหญ่

ไม่ว่าภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าภายนอกพรรคพลังประชารัฐ

เสียงของ”นักการเมือง”จะเริ่มดัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน